การระลึกที่ถูกต้องจะต้องระลึกอย่างไร


    ผู้ฟัง ระลึก คือ ตาเห็นสี หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รับรส กายได้กระทบสัมผัส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว การระลึกในแต่ละทาง ระลึกสภาพธรรมที่ถูกต้อง ขอทราบว่าจะต้องระลึกอย่างไร

    อ.ธิดารัตน์ เป็นสิ่งที่ผู้ใหม่กังวลว่าจะปฏิบัติถูก หรือไม่ แต่ถ้าฟัง แล้วเริ่มเข้าใจ ก็จะทราบว่า ความคิดที่จะปฏิบัติจะค่อยๆ หายไปตามความเข้าใจ เพราะจริงๆ แล้วไม่มีแม้กระทั่งตัวเราที่จะปฏิบัติ แต่มีเพียงสภาพธรรมที่ทำกิจแล้วก็ปฏิบัติในขณะนั้น เพราะฉะนั้นการศึกษาที่ท่านอาจารย์อบรมอยู่เป็นประจำก็คือ ความเป็นเรา และก็ความหวังที่ว่าจะได้เข้าใจ หรือว่าจะได้รู้นั้น จะมาเป็นเครื่องกั้น โลภะ เมื่อใดที่คิดว่าต้องการแม้กระทั่งหนทาง ตรงนั้นก็จะทำให้เราคลาดเคลื่อนไปด้วยโลภะ เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมก็เพื่อเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง แล้วก็ละความเป็นเรา เมื่อเข้าใจขึ้น สภาพธรรมนั้นก็จะปรากฏตามความเป็นจริงขึ้นเองโดยที่ว่าไม่ต้องหวัง ไม่ต้องรอ หรือว่าจะต้องพยายามทำขึ้น แต่สภาพธรรมนั้นจะเกิดขึ้นเองตามความเข้าใจ

    ผู้ฟัง หมายความว่าไม่ใช่เรากระทำ เป็นการอบรมของเรา ซึ่งไม่เกิดขึ้นตลอดเวลา แต่ครั้งใดที่มีสติ จะเกิดการกระทบสัมผัส เราจะมีสติขึ้นเองโดยอัตโนมัติเลย แต่พอได้ครั้งเดียว แล้วก็หายไป นานๆ ก็จะเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ สติเกิดแล้วก็ดับ เป็นปกติธรรมดาอย่างนี้ แม้ในขณะที่กำลังเห็นก็รู้ว่าขณะนี้มีสภาพธรรม และสติกำลังรู้ลักษณะอย่างนี้ เพื่อที่จะได้ชินกับลักษณะซึ่งเป็นรูปธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นทางหู หรือทางกาย เช่น แข็งขณะนี้ รู้ตรงนั้น นิดเดียว เพราะว่าทุกอย่างไม่ยั่งยืนจะเกิดขึ้นเป็นช่วงขณะสั้นๆ

    ผู้ฟัง จริงๆ แบบนี้ก็ยังเป็นการปฏิบัติเหมือนกัน ยังมีเรา ยังไม่เป็นธรรมชาติ

    ท่านอาจารย์ นี่เป็นเรื่องจริง ตามปกติด้วย ธรรมดาเป็นอย่างนี้ เสร็จแล้วก็อะไร

    ผู้ฟัง เสร็จแล้วก็หลงลืมสติ

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เสร็จแล้วก็หลงลืมสติ ก็ธรรมดา ทุกคนทราบเป็นธรรมดา แล้วอย่างไรต่อ

    ผู้ฟัง เสร็จแล้วก็มีสติอีก

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นธรรมดา

    ผู้ฟัง จะสลับไปแบบนี้

    ท่านอาจารย์ ถ้าสติมีปัจจัยที่จะเกิด นี่ไม่เป็นปัญหา แต่เป็นปัญหาก็คือว่าแล้วเมื่อไรสติจะเกิดอีก แล้วเมื่อไรปัญญาจะรู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรม นี่คือปัญหา แต่ถ้าไม่มีปัญหา เมื่อสติเกิดก็รู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น เมื่อดับไปก็รู้ว่าเป็นธรรมดา แล้วเมื่อไรสติสัมปชัญญะเกิดก็รู้อีก เพราะว่าลักษณะของสติสัมปชัญญะต่างกับขณะที่หลงลืมสติ นี่คือสิ่งที่จะต้องรู้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่ไปถามคนอื่นว่าแล้วมีสติ หรือไม่ เพราะว่าลักษณะของสติเมื่อมีปัจจัยเกิดขึ้นก็รู้ตรงลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งขณะนั้นมีเฉพาะลักษณะนั้นเท่านั้นที่ปรากฏ อย่างอื่นไม่ได้ปรากฏ เมื่อดับก็ดับก็เป็นธรรมดา และเมื่อเกิดอีกก็เกิดอีกก็เป็นธรรมดา แต่ถ้าปัญหาก็คือ เมื่อไรจะรู้อีก เมื่อไรจะเกิดอีก เมื่อไรจะมาก ถ้าไม่มีปัญหาก็เป็นการอบรมไปเรื่อยๆ ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องว่าธรรมเป็นอย่างนี้มีลักษณะหลากหลายที่ยังไม่รู้เพราะสติไม่ได้ระลึก เช่น ขณะนี้เอง ขณะนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าฟังมาว่าเป็นธรรม แล้วก็มีลักษณะต่างๆ ก็จริง เข้าใจ แต่สติก็ไม่ได้ระลึกสักลักษณะเดียว ก็รู้ความต่างของขณะที่สติสัมปชัญญะเกิดกับขณะที่หลงลืมสติ

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 41

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 42


    หมายเลข 6300
    27 ม.ค. 2567