การเจริญสติฯ ต้องเจริญเป็นปกติเนืองๆ บ่อยๆ
เพราะฉะนั้น การเจริญสติต้องเจริญเป็นปกติเนืองๆ บ่อยๆ พิจารณานามรูปที่กำลังปรากฏตามปกติให้ทั่ว ได้มากเท่าไรปัญญาก็จะรู้ชัดแล้วละคลายการที่เคยยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนมากเท่านั้น
อย่างใน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่อย่างไรเล่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ จิตมีราคะก็รู้ว่า จิตมีราคะ
ในจิตตานุปัสสนา ทรงแสดงนัยของการพิจารณาไว้ ๑๖ ประการในเรื่องของจิต เริ่มด้วยจิตมีราคะก็รู้ว่าจิตมีราคะ เพราะวันหนึ่งๆ ราคะมาก โลภมูลจิตเป็นพื้นเป็นประจำที่จะให้ระลึกได้ ก็ควรที่จะระลึกเพื่อรู้ชัด แล้วละการยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ บุคคล แต่โดยมาก เพราะไม่เจริญสติ ไม่เข้าใจการเจริญสติ จึงกล่าวว่าเจริญสติไม่ได้ แต่ในพระไตรปิฎก สติระลึกเป็นไปในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม และเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ คำว่าอนุปัสสนา คือ เนืองๆ บ่อยๆ เพราะว่าจุดประสงค์ คือ ปัญญาที่รู้ชัด เพราะสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติ
ถ้าจุดประสงค์เป็นความสงบ จะไม่รู้ชัดในสภาพธรรมตามปกติ เพราะขณะนี้ตามปกติเป็นโลภมูลจิต ถ้าไม่รู้ ก็ไม่ละ ก็ไปทำผิดปกติขึ้น แต่การเจริญสติปัฏฐานถ้าเข้าใจว่าเป็นเรื่องปกติ ไม่หลีกเลี่ยง ไม่รีรอ โลภมูลจิตก็โลภมูลจิต โลภมูลจิตเกิดแล้วดับไหม เป็นของธรรมดาที่จะละโลภะ โทสะ โมหะได้ ต้องละเป็นลำดับขั้น โดยการละการที่ยึดถือโลภะ โทสะ โมหะว่าเป็นตัวตนเสียก่อน โดยการรู้ว่า สภาพนั้นเป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง