โลภมูลจิตมีลักษณะปรากฏโดยไม่จำเป็นต้องนึกถึงชื่อ


    ใน ปปัญจสูทนี ซึ่งเป็น อรรถกถามัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ สติปัฏฐานสูตร มีข้อความว่า

    จิตมีราคะ ได้แก่ จิตอันไปกับโลภะ ๘ อย่าง

    หมายความถึงโลภมูลจิต ๘ ดวง สติสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของโลภมูลจิตได้ทั้ง ๘ ดวง โดยไม่จำเป็นต้องนึกถึงชื่อ ว่าเป็น โลภมูลจิต โสมนัสสสหคตัง ทิฏฐิคตสัมปยุตตัง อสังขาริกัง ไม่ใช่เป็นการระลึกชื่อ แต่ลักษณะของจิตในขณะนั้นมีสภาพอย่างไรที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์บุคคล ไม่ใช่จิตประเภทอื่นด้วย แต่เป็นจิตที่มีลักษณะยินดีพอใจ มีความปรารถนาหรือต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้น เพราะมีลักษณะปรากฏให้รู้ความต่างกัน แต่ว่าใครจะรู้ลักษณะของโลภมูลจิต ๘ ดวงที่ต่างกันบ้าง

    ใครรู้ความต่างกันของ โสมนัสสสหคตัง ทิฎฐิคตสัมปยุตตัง อสังขาริกัง กับ โสมนัสสสหคตัง ทิฏฐิคตสัมปยุตตัง สสังขาริกัง ผู้เจริญสติเท่านั้นที่สามารถรู้ได้ แต่ไม่ใช่มุ่งหมายว่า ผู้เจริญสติมีความจงใจว่า จะรู้อย่างนั้นอย่างนี้ แต่หมายความว่า เริ่มระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม เมื่อระลึกรู้ลักษณะของเวทนา ก็ชินกับการที่จะไม่ยึดถือความรู้สึกทุกข์บ้าง สุขบ้าง โสมนัส โทมนัส อุเบกขาว่าเป็นตัวตน เมื่อได้พิจารณารูปอื่นนามอื่นแล้วก็ทำให้รู้ว่า ยังมีอีกมากนักที่ยังไม่รู้ จิตที่มีความต้องการเกิดขึ้น สติก็จะเริ่มระลึกรู้ลักษณะของสราคจิต คือ จิตที่เป็นไปกับโลภะ แต่ไม่ใช่จงใจจะรู้จิตดวงนั้น หรือจิตดวงนี้ แล้วแต่ว่าสภาพธรรมใดปรากฏ

    การยึดการติดในนามในรูปนี้เหนียวแน่นมาก ละคลายยาก เพราะฉะนั้น เวลาที่ระลึกแล้ว ยังอาจจะเกิดความต้องการรู้แทรกขึ้นมาก็ได้ ซึ่งผู้เจริญสติต้องเป็นผู้ที่สำเหนียกด้วยความละเอียดจริงๆ จึงจะละคลายได้ว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่งจนกว่าจะคลายได้จริงๆ ไม่อย่างนั้นความเป็นตัวตนไม่ได้ต้องการอย่างนั้นก็จะต้องการอย่างอื่น เมื่อเจริญสติระลึกรู้ลักษณะของจิตมีสภาพของจิตให้รู้แล้ว ความต้องการที่เหนียวแน่นก็ยังแซงเข้ามาได้ ที่จะต้องการรู้จิตชนิดนั้นว่าเป็นลักษณะอย่างไร เพราะฉะนั้นความเหนียวแน่นของอัตตาหรือว่าการยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตนมากมายทีเดียว ผู้ที่จะรู้ว่าเหนียวแน่นแค่ไหนต้องเป็นผู้เจริญสติแล้ว เพราะรู้ละเอียดจึงจะละได้ ถ้ายังคงไม่รู้อย่างนี้ก็ไม่มีหนทางเลยที่จะละได้


    หมายเลข 6318
    31 ก.ค. 2567