หน้าที่ของสติ คือ ระลึกได้ ไม่หลงลืม


    คราวที่แล้วก็เป็นเรื่องของจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน การเจริญสติปัฏฐานนั้น เป็นเรื่องที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่มีจริง มีแล้ว มีเหตุปัจจัยทำให้เกิดขึ้นปรากฏแล้วในขณะนี้ แล้วแต่จะระลึก คือถ้าสติจะระลึกที่กายก็ได้เพราะเหตุว่ากายกำลังมี แต่ว่าที่กายนี้เคยรวมกัน เป็นกลุ่มเป็นก้อน มีรูปมากมายหลายรูปที่ประชุมรวมกัน ถ้าสติไม่ระลึกรู้กระจัดกระจายลักษณะของรูปที่รวมกันอยู่ ก็ย่อมจะทำให้เกิดความยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์บุคคล เมื่อกายมีแล้วก็เคยเป็นที่ตั้งของความยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นวัตถุสิ่งของ เพราะฉะนั้นสติจึงมีหน้าที่ที่จะระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ประชุมรวมกัน เพื่อให้ปัญญารู้ชัด แล้วก็ละลายความไม่รู้ความที่เคยยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคลเป็นตัวตน เพราะฉะนั้นที่กายนี้ก็ระลึกได้ สติระลึกได้ไม่ว่าจะเป็นส่วนหนึ่งส่วนใด ที่ลมหายใจซึ่งเป็นส่วนของกายสติก็ระลึกได้ แต่เมื่อสติระลึกก็จะต้องมีสภาพลักษณะของจริงปรากฏให้สติรู้ชัดในส่วนของกายที่สติระลึกรู้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นผมขนเล็บฟันหนังใดๆ ก็ตาม ขณะใดที่สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมปรากฏที่กาย ขณะนั้นเป็นกายานุปัสสนา แต่ไม่ใช่หมายความว่าจะตั้งเป็นกฎเกณฑ์ให้ท่านเจริญได้จะต้องให้สติจดจ้องระลึกรู้อยู่ที่กาย ไม่ใช่มีกฎเกณฑ์ข้อบังคับ แต่ว่าในมหาสติปัฏฐานทั้ง ๔ นั้น ไม่ว่าสติจะระลึกที่ใด ก็รู้ความจริงในสภาพธรรมที่สติกำลังรู้อยู่ เช่นในขณะนี้สติของท่านจะระลึกที่กาย เป็นไปได้ ไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้ ขณะที่ระลึกที่กายจะมีลักษณะของมหาภูตรูป เย็นบ้าง ร้อนบ้าง อ่อนบ้าง แข็งบ้าง ตึงบ้าง ไหวบ้างปรากฏเป็นปกติทีเดียว ในขณะนั้นสติที่ระลึกเป็นไปในกายก็ชื่อว่ากายานุปัสสนา แต่ว่าไม่ใช่มีแต่กาย สภาพธรรมที่มีปรากฏเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยนั้นมีมากมาย และตราบใดที่ยังไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ไม่กระจัดกระจายสภาพธรรมที่เกิดสืบต่อกันอย่างรวดเร็วให้เป็นลักษณะของแต่ละนามแต่ละรูปแล้ว ไม่สามารถที่จะละความยึดถือว่าเป็นตัวตนได้ เพราะฉะนั้นก็จะต้องระลึกลักษณะสภาพธรรมที่มีจริงประการอื่นๆ ต่อไปด้วยเช่น เวทนาความรู้สึก ซึ่งเป็นของจริง เป็นปกติประจำวันทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นสุขเวทนาก็ข้ามไม่ได้ เพราะเหตุว่าถ้าขณะใดที่หลงลืมสติ ขณะนั้นก็เป็นความไม่รู้ขณะนั้นก็ยึดถือสภาพของสุขเวทนานั้นว่าเป็นตัวตน เวทนาเกิดดับสืบต่อเป็นปกติในชีวิตประจำวันซึ่งสติจะต้องแทรกเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพของเวทนาความรู้สึกเพื่อที่จะได้ไม่ยึดถือความรู้สึกต่างๆ ว่าเป็นตัวตน ถ้าขณะนี้ไปอุเบกขาความรู้สึกเฉยๆ ก็รู้ว่าความรู้สึกเฉยๆ นี้ ก็เป็นแต่เพียงสภาพนามธรรมชนิดหนึ่ง คำว่า นามธรรม นั้นเป็นสภาพรู้ธรรมดาๆ มีสิ่งที่ไม่ใช่สภาพรู้กับมีสิ่งที่เป็นสภาพรู้ ขณะที่รู้ ขณะที่รู้สึก นั่นเป็นสภาพรู้ ใช้ชื่อว่าสภาพรู้เพื่อให้รู้ว่าหมายความถึงลักษณะของสภาพธรรมชนิดใดที่กำลังปรากฏ เมื่อความรู้สึกมีแล้วก็ขณะใดที่ระลึกได้ว่าเป็นนามธรรมชนิดหนึ่งขณะนั้นก็เป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธรรมดาในวันหนึ่งวันหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องกฎเกณฑ์อีกเหมือนกันว่าไม่ให้รู้เวทนาหรือว่าเวทนานั้นรู้ไม่ได้ แต่ว่าเรื่องของสติแล้วก็เป็นเรื่องที่จะต้องเจริญ แล้วก็มีสิ่งที่สติจะต้องระลึกรู้ บางครั้งระลึกที่กายบ้า งบางครั้งก็ระลึกที่ความรู้สึก หรือถ้าไม่ระลึกขณะใดหลงลืมมีสติ มีความยึดถือว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นเราสุข เป็นเราทุกข์ เป็นเรารู้สึกเฉยๆ ทันที เพราะเหตุว่ามีเชื้ออยู่ในจิตใจ แต่ว่าขณะใดที่มีความรู้สึกเกิดขึ้น และสติก็เริ่มระลึกรู้ลักษณะของเวทนาบ้าง ในขณะนั้นก็จะทำให้ความรู้ชัดในลักษณะของเวทนาซึ่งเป็นความรู้สึกนั้นถูกต้องว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เกิดขึ้นแล้วก็หมดไป แล้วก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่มีตัวตนที่ไปบังคับ สุขเวทนาเกิดแล้วปรากฏ สติระลึกตามปกติ อุเบกขาเวทนากำลังมีปรากฏเพราะเกิดแล้ว สติก็ระลึกตามปกติ


    หมายเลข 6362
    31 ก.ค. 2567