ผู้มีปกติอยู่ผู้เดียว - ผู้มีปกติอยู่ด้วยเพื่อนสอง


    ขอให้ดูความหมายในพระสูตรอื่นๆ ประกอบด้วย คือ ใน สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค มิคชาลสูตร ที่ ๑ มีข้อความว่า

    ท่านพระมิคคชาละไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลถามว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่พระองค์ตรัสว่า ผู้มีปกติอยู่ผู้เดียว ผู้มีปกติอยู่ผู้เดียว ฉะนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรพระเจ้าข้า ภิกษุจึงชื่อว่า มีปกติอยู่ผู้เดียว และด้วยเหตุเพียงเท่าไร ภิกษุจึงชื่อว่า อยู่ด้วยเพื่อนสอง

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร มิคชาละ รูปที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ให้เกิดความรัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัดมีอยู่ ถ้าภิกษุยินดี กล่าวสรรเสริญ หมกมุ่นรูปนั้นอยู่ เมื่อเธอยินดีกล่าวสรรเสริญ หมกมุ่นรูปนั้นอยู่ ย่อมเกิดความเพลิดเพลิน เมื่อมีความเพลิดเพลินก็มีความกำหนัดกล้า เมื่อมีความกำหนัดกล้าก็มีความเกี่ยวข้อง

    ดูกร มิคชาละ ภิกษุผู้ประกอบด้วยความเพลิดเพลิน และมีความเกี่ยวข้อง เราเรียกว่า ผู้มีปกติอยู่ด้วยเพื่อนสอง

    ข้อความต่อไป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ โดยนัยเดียวกัน

    พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    ดูกร มิคชาละ ภิกษุผู้มีปกติอยู่ด้วยอาการอย่างนี้ ถึงจะเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่าหญ้า และป่าไม้ เงียบเสียง ไม่อื้ออึง ปราศจากลมแต่ชนที่เดินเข้าออก ควรเป็นที่ประกอบกิจของมนุษย์ผู้ต้องการสงัด สมควรเป็นที่หลีกเร้นอยู่ก็จริง ถึงอย่างนั้นก็ยังเรียกว่า มีปกติอยู่ด้วยเพื่อนสอง

    ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะผู้นั้นยังมีตัณหาเป็นเพื่อนสอง เขายังละตัณหานั้นไม่ได้ ฉะนั้นจึงเรียกว่า มีปกติอยู่ด้วยเพื่อนสอง

    สำหรับโดยนัยตรงกันข้าม คือ

    ถึงแม้ว่าจะมีรูปที่น่ารัก มีเสียง มีกลิ่น มีรส มีโผฏฐัพพารมณ์ที่น่ารัก น่าพอใจ มีอยู่ แต่ภิกษุไม่ยินดี ไม่กล่าวสรรเสริญ ไม่หมกมุ่น ไม่ประกอบด้วยความเพลิดเพลิน และความเกี่ยวข้อง เราเรียกว่า มีปกติอยู่ผู้เดียว

    ดูกร มิคชาละ ภิกษุผู้มีปกติอยู่ด้วยอาการอย่างนี้ แม้จะปะปนกับภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา เดียรถีย์ สาวกของเดียรถีย์ ในที่สุดบ้านก็จริง ถึงอย่างนั้นก็ยังเรียกว่า มีปกติอยู่ผู้เดียว

    เรื่องของการอยู่ผู้เดียว เป็นเรื่องของใจที่จะออกไป ไม่เกี่ยวข้อง ไม่ยึดถือ ไม่ติด ไม่เพลินไปด้วยความเป็นตัวตน เป็นสัตว์บุคคล กับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะใดๆ

    เพราะฉะนั้น เรื่องของกายวิเวก จะต้องเข้าใจด้วยว่า ไม่ใช่ไปโดยที่ยังเกี่ยวข้องเต็มไปด้วยความต้องการบางสิ่งบางประการชั่วครั้งชั่วคราว แล้วก็จะกลับมา แต่กายวิเวกจริงๆ เป็นอัธยาศัยในเนกขัมมะที่จะออกจากการคลุกคลี


    หมายเลข 6373
    31 ก.ค. 2567