จิตวิเวก


    ข้อความต่อไปมีว่า

    จิตวิเวก เป็นไฉน

    ที่ออกไป ต้องการพ้นจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ไม่ต้องการเกี่ยวข้องกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งหลาย ผู้ที่มีกายวิเวกออกไปแล้วก็ไม่ใช่เพียงแต่ออกไปเฉยๆ แต่ก็ยังมีความต้องการที่จะสงบจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะด้วย ข้อความมีว่า

    จิตวิเวก เป็นไฉน

    ภิกษุบรรลุปฐมฌานมีจิตสงัดจากนิวรณ์ บรรลุทุติยฌานมีจิตสงัดจากวิตก วิจาร บรรลุตติยฌานมีจิตสงัดจากปีติ บรรลุจตุตถฌานมีจิตสงัดจากสุข และทุกข์ บรรลุอากาสานัญจายตนฌานมีจิตสงัดจากรูปสัญญา ปฏิฆะสัญญา และนานัตตสัญญา บรรลุวิญญาณัญจายตนฌานมีจิตสงัดจากอากาสานัญจายตนสัญญา บรรลุอากิญจัญญายตนฌานมีจิตสงัดจากวิญญาณัญจายตนสัญญา บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน มีจิตสงัดจากอากิญจัญญายตนสัญญา

    สงัดขึ้นเรื่อยๆ สงบขึ้นเรื่อยๆ สำหรับจิตวิเวก แต่นั่นไม่ใช่จุดประสงค์อันสูงสุดในพระพุทธศาสนา ไม่ใช่เพียงแค่นั้น เพราะถึงแม้ว่าไม่ใช่พระพุทธศาสนา กายวิเวกก็มี จิตวิเวกก็มี แต่สำหรับในพระพุทธศาสนานั้น เป็นการเจริญปัญญารู้สภาพธรรมถูกต้องตามความเป็นจริงเพื่อละคลายกิเลส ไม่ใช่เพียงชั่วคราว แต่สามารถที่จะดับหมดสิ้นเป็นสมุจเฉทด้วยการเจริญสติปัฏฐาน มีการเจริญปัญญาระลึกรู้ลักษณะของนาม และรูปจนกว่าจะละคลายกิเลส จนกระทั่งดับหมดสิ้นเป็นพระอริยบุคคลเป็นลำดับขั้นด้วย


    หมายเลข 6374
    31 ก.ค. 2567