กลัวความสุขที่เว้นจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายหรือ


    ขอให้ทราบที่มาของไม้สดที่มียาง แล้วอยู่ในน้ำ วางบนบก และไม้ที่แห้งสนิทว่า เป็นเพราะดำริในขณะที่เป็นพระโพธิสัตว์ระลึกถึงอุปมา ๓ ข้อนี้ ต่อจากนั้น พระองค์ตรัสเล่าให้สัจจกนิครนถ์ฟังว่า ทรงดำริในการข่มจิต กัดฟันด้วยฟัน กลั้นลมหายใจ อดอาหารเป็นต้น ซึ่งไม่มีใครเทียมยิ่งกว่าในการทรมานพระองค์ แต่ก็ไม่ได้บรรลุญาณทัสสนะอันวิเศษที่ควรแก่พระอริยะซึ่งยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ ด้วยทุกกรกิริยาอันเผ็ดร้อนนั้น ทั้งๆ ที่ทรงดำริอย่างนี้ แต่เมื่อยังไม่รู้หนทาง เสด็จออกจากกามแล้ว แล้วก็ดำริว่า ถ้ายังมีความยินดีพอใจในกามอยู่ ถึงออกมาแล้วก็จริง ก็เหมือนไม้สดที่ยังวางอยู่ในน้ำ จึงทรงดำริทรมานพระองค์ด้วยประการต่างๆ เพื่อที่จะละความยินดีความต้องการ แต่ทรงระลึกถึงเมื่อครั้งที่ประทับนั่งอยู่ใต้ร่มหว้าในงานพระราชพิธี และครั้งนั้นบรรลุปฐมฌาน ทรงดำริว่า ทางนั้นพึงเป็นทางแห่งความตรัสรู้กระมัง จึงทรงมีความดำริว่า กลัวความสุขที่เว้นจากกาม และอกุศลธรรมทั้งหลายหรือ แล้วทรงดำริต่อไปว่า ไม่กลัวสุขเช่นนั้นเลย จะต้องกลัวทำไม เพราะเป็นสุขที่เว้นจากกาม และอกุศลธรรมทั้งหลาย พระองค์ทรงเข้าฌาน ระลึกชาติในปฐมยาม ทรงรู้จุติปฏิสนธิในมัชฌิมยาม นี่เป็นเรื่องของสมาธิ แต่แม้ว่าสุขเวทนาจะเกิด ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน จนถึงฌานที่ระลึกชาติต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นก็ไม่ครอบงำพระองค์ ทรงน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ในปัจฉิมยาม สำหรับผู้ที่ไม่ว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศลก็ไม่สามารถจะครอบงำได้ เพราะสติระลึกรู้ใน นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา


    หมายเลข 6385
    31 ก.ค. 2567