การเจริญสติปัฏฐานยาก แต่ค่อยๆ มีความเข้าใจที่ถูกต้องเพิ่มขึ้น


    เคยได้รับฟังจากท่านผู้ฟังบางท่าน บอกว่าการเจริญสติปัฏฐานยากเพราะเป็นการที่สติจะค่อยๆ เริ่มระลึกรู้ลักษณะของเริ่มระลึกรู้ลักษณะของนาม และรูปที่ปรากฏเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งปกติแล้วก็เป็นผู้ที่หลงลืมสติกันมานานแล้ว ในขณะที่ไม่ได้ฟังเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน หรือว่าไม่มีความเข้าใจเรื่องสัมมาสติ ก็ไม่ได้เจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวันเลย พอเรื่มที่จะระลึกลักษณะของนามของรูปตามปกติที่สติสามารถที่จะเกิดระลึกรู้แม้เพียงชั่วขณะหนึ่ง ขณะนั้นก็เป็นสติปัฏฐานแล้ว เพราะเหตุว่ารู้ในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ว่าทีละเล็กทีละน้อย ท่านก็กล่าวว่ายากเกิน การเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ดูเหมือนว่าจะเป็นสิ่งที่สุดวิสัย เป็นไปไม่ได้ ก็คงจะเหมือนคำอุปมาที่ว่า มีเขาสูง คนที่ขึ้นไปถึงยอดเขา ก็สามารถจะเห็นสิ่งต่างๆ ก็สามารถจะเห็นสิ่งต่างๆ ที่อยู่ข้างล่างได้ แต่ว่าคนที่อยู่ข้างล่าง ไม่มีโอกาสที่จะเห็นสิ่งต่างๆ เหมือนกับคนที่ขึ้นไปอยู่บนยอดเขา แล้วถ้ามีความท้อถอย คิดว่ารู้ไม่ได้คิดว่ารู้ไม่ได้ เจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวันมันยากมาก ถ้าคิดอย่างนี้ก็เหมือนกับว่าท่านไม่พยายามที่จะขึ้นไปสู่ยอดเขาซึ่งบุคคลอื่นขึ้นได้ แต่เพราะเหตุใดบุคคลอื่นจึงขึ้นได้ท่านจึงจะขึ้นไม่ได้ ก็เป็นเพราะเหตุว่าท่านคิดว่า การเจริญสติปัฏฐานเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้นี้ขั้นหนึ่ง หรือท่านก็คิดว่า คงจะเป็นไปได้แต่ว่ายาก แต่จะยากสักเท่าไหร่ก็ตาม ถ้ามีความเข้าใจที่ถูกต้อง แล้วเริ่มเจริญสติจริงๆ เป็นปกติ ทีละเล็กทีละน้อย ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่มีเยื่อใยกับสิ่งที่หมดไปแล้ว เพราะเหตุว่าสิ่งที่กำลังปรากฏกำลังเป็นปัจจุบัน เป็นของจริง มีการเกิดขึ้นแล้วดับไป ตามมหาสติปัฏฐาน ที่ได้ฟังมาตั้งแต่ต้น กายานุปัสสนาสติปัฏฐานก็ดี เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานก็ดี จิตตานุปัสสนาก็ดี ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานก็ดี ล้วนแต่เป็นสภาพธรรมที่เกิดแล้วดับไป โดยการศึกษา โลภมูลจิต สราคจิต ในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ประจักษ์ความจริงข้อนี้หรือยัง ไม่ว่าธรรมใดๆ ทั้งนั้นที่มีกล่าวไว้ว่า สังขารธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ประจักษ์ความจริงของสังขารธรรมหรือยัง ท่านไม่ได้ทรงแสดงธรรมเรื่องอื่นเลย นอกจากเรื่องชีวิตปกติประจำวัน กายไม่เที่ยง เวทนาไม่ว่าจะเป็นสุขเวทนา หรือว่าทุกขเวทนา หรือว่าอุเบกขาเวทนา ก็ไม่เที่ยง จิต แม้ว่าจะเป็นโลภมูลจิตก็ไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ประจักษ์แล้วหรือยังว่าไม่เที่ยง

    เข้าใจธรรมว่า สังขารธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง สังขารธรรม ได้แก่ จิตปรมัตถ์ เจตสิกปรมัตถ์ รูปปรมัตถ์ แต่ว่าประจักษ์ความไม่เที่ยงของสังขารธรรมหรือยัง และวิธีที่จะประจักษ์ทำอย่างไร หรือว่าไม่มีวิธี ถ้าไม่มีวิธีก็ไม่มีทางประจักษ์ หรือว่าถ้าเจริญไม่ถูกวิธี ก็ไม่ประจักษ์ว่าสังขารธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง เหมือนกัน

    อย่างโลภมูลจิต หรือสราคจิตก็ไม่เที่ยง ทำอย่างไรจึงจะได้ประจักษ์สภาพของโลภมูลจิตว่าไม่เที่ยง เวลาที่จิตเป็นโลภะ ระลึกในขณะนั้นว่า เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ไม่ระลึกเลย และก็หวังที่จะไปรู้จิตที่สงบ ไปสร้างจิตที่สงบขึ้นเพื่อที่จะรู้ความไม่เที่ยง นั่นไม่เข้าใจอนุสัยกิเลสซึ่งมีอยู่ในจิตอย่างละเอียด ถ้าตราบใดที่ยังไม่รู้ลักษณะของนามธรรมรูปธรรมจนทั่ว ชัดเจน ถูกต้อง ชินขึ้น ละคลายมากขึ้นแล้ว ก็ไม่มีทางที่จะไปดับความเห็นผิดที่เคยยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตน ไม่มีหนทางที่จะไปประจักษ์สภาพความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ตัวตนของนามของรูปได้เลย

    เพราะฉะนั้น เมื่อโลภมูลจิตเป็นสราคจิต เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน และไม่เที่ยง วันหนึ่งๆ ระลึกรู้บ้างหรือไม่ มีโลภะกันคนละมากๆ ไม่ใช่น้อยเลย แต่ถ้าสติไม่ระลึกรู้ตามปกติในสภาพของนามธรรมว่าเป็นนามธรรม ก็ไม่มีหนทางที่จะไปประจักษ์ได้ว่า ที่ทรงแสดงไว้ว่า โลภมูลจิตไม่เที่ยงนั้นจริง แต่ผู้ที่จะประจักษ์ได้ต้องเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ แม้แต่โลภมูลจิตที่มีเป็นปกติทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง ในขณะใดเกิดขึ้นปรากฏ สติก็ระลึกรู้ลักษณะสภาพของโลภมูลจิต สราคจิตในขณะนั้นบ่อยๆ จนกว่าจะชิน จนกว่าจะรู้ทั่ว จนกว่าจะละคลาย และจะประจักษ์ความเกิดขึ้น และดับไปของโลภมูลจิตได้

    แต่เวลานี้ที่ไม่สามารถประจักษ์ได้ เพราะไม่ว่าสติจะระลึกรู้ลักษณะของนามใดของรูปใดก็เป็นชั่วขณะนิดเดียว ตัวตนเยื่อใยก็เข้าไปแทรกอีกแล้ว เพราะเหตุว่าไม่รู้ลักษณะของนาม และรูปจนทั่ว ก็ยังไม่สามารถละคลายได้ เมื่อไม่สามารถละคลายได้ ก็ไม่สามารถประจักษ์สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้


    หมายเลข 6391
    31 ก.ค. 2567