อเหตุกจิต กับ สัตว์โลก


    ท่านอาจารย์ อเหตุกจิต คือจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ เช่น จิตเห็น มีเจตสิกเกิดเท่ากัน ไม่ว่าเป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นเทพ เป็นมนุษย์ เป็นพรหม และก็ต้องมีรูปารมณ์ คือสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอารมณ์ จะมีอย่างอื่นเป็นอารมณ์ไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าเอาคำว่า สัตว์เดรัจฉาน นรก เปรต อสูรกาย เทพ พรหม ออก พูดถึงจิต จิตเห็นก็คือจิตเห็น เป็นอเหตุกจิต

    ผู้ฟัง แล้วตอนชวนะ

    ท่านอาจารย์ นี่เปลี่ยนแล้ว เปลี่ยนจากจิตเห็น เพราะฉะนั้นเราจึงต้องกล่าวถึงจิตแต่ละประเภท

    ผู้ฟัง ก็อยู่ในวิถีจิต แล้วทำไมชวนะนี่ ...

    ท่านอาจารย์ ปฏิสนธิจิตของช้างกับปฏิสนธิจิตของมด ก็คืออุเบกขาสันตีรณะอกุศลวิบากเหมือนกัน ของท่านพระเทวทัตในอเวจีนรกขณะนี้ก็เหมือนกัน คือ เป็นอุเบกขาสันตีรณะอกุศลวิบาก เพราะฉะนั้นเราจึงต้องกล่าวถึงจิต ก็จะแสดงถึงประเภทต่าง ประกอบด้วยเหตุ และไม่ประกอบด้วยเหตุ ด้วยกิจที่ต่างกัน และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ให้เห็นชัดว่าเป็นสภาพธรรมที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เช่น ปฏิสนธิจิตของช้างกับมดจะให้เป็นอุเบกขาสันตีรณะกุศลวิบากก็ไม่ได้ หรือจะให้จิตปฏิสนธิของมดเป็นอุเบกขาสันตีรณะกุศลวิบาก ของช้างเป็นจักขุวิญญาณก็ไม่ได้ จิตแต่ละประเภทก็เป็นสภาพของจิตนั้นๆ

    ผู้ฟัง แล้วตอนปฏิสนธิจิตไม่มาเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันเลย หรือ

    ท่านอาจารย์ ต้องเกี่ยวข้องภายหลังแน่นอน สัตว์เดรัจฉานก็ไม่สามารถจะเจริญปัญญาจนรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ เพราะว่าปฏิสนธิจิตไม่ประกอบด้วยเหตุ ไม่ประกอบด้วยปัญญาเจตสิก หรือแม้แต่คนที่เกิดมาเป็นมนุษย์ มั่งมีด้วยสมบัติต่างๆ แต่ก็ไม่ประกอบด้วยปัญญาก็มี เพราะฉะนั้นท่านเหล่านั้นจะสมบูรณ์เพียบพร้อมด้วยสมบัติต่างๆ แต่ก็ไม่สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้

    ผู้ฟัง ก็คงต้องแตกต่างกัน

    ท่านอาจารย์ ตามจิตที่ปฏิสนธิด้วย แต่จิตเห็นไม่ต่าง จิตได้ยินไม่ต่าง โลภมูลจิตก็ไม่ต่าง โทสมูลจิตก็ไม่ต่าง

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 46


    หมายเลข 6404
    18 ม.ค. 2567