ให้เข้าใจถูกว่าปัญญาของเราไม่ใช่ปัญญาของพระพุทธเจ้า
ผู้ฟัง ให้เข้าใจอย่างไร เพื่อคล้อยตามเท่านั้น
ท่านอาจารย์ ให้เข้าใจถูกว่าปัญญาของเราไม่ใช่ปัญญาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า รู้เท่ากันไม่ได้ จริงๆ เรารู้ แต่เรารู้ไม่หมด เรารู้เป็นบางส่วน เช่น เวลาที่เกิดความติดข้อง เพลิดเพลิน อยากได้ เราไม่รู้ หรือ ลักษณะนั้นเราก็รู้ แต่รู้ไม่ทั่วใช่ไหม แล้วเวลาที่ความโกรธเกิดขึ้น ความขุ่นเคืองใจระดับต่างๆ เราก็รู้ไม่ทั่วอีกว่า ที่แท้ที่จริงแล้วก็มีโทสมูลจิตสองประเภท ซึ่งเรามีทั้งหมดอกุศลจิต ๑๒ ประเภท แต่ไม่รู้ เมื่อศึกษา ไม่ใช่ว่าเราศึกษาเรื่องประเภทเพื่อจำ แต่เราศึกษาว่า ไม่ว่าสภาพธรรมใดที่ได้ยินมีขึ้นเมื่อไหร่ เกิดขึ้นเมื่อไหร่ ก็คือสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังทั้งนั้น ที่คุณสุกิจกล่าวถึงอเหตุกจิต ซึ่งในตอนต้นก็กล่าวถึงว่า กามาวจรจิตมี ๕๔ ประเภท เป็นอกุศลจิต ๑๒ เป็นอเหตุกจิต ๑๘ ที่เหลือไม่บอกจำนวนก็บวกลบคูณหารได้ ซึ่งไม่ผิดใช่ไหม ได้เท่าไหร่ที่เหลือ ๒๔ เป็นกามาวจรโสภณจิตเป็นฝ่ายดี เป็นจิตที่ประกอบด้วยโสภณเจตสิก
เพราะฉะนั้นการฟังธรรม ฟังเพื่อให้เข้าใจ แม้แต่ชื่ออเหตุกจิตเป็นชื่อใหม่ มีใครคิดบ้างว่าขณะนี้เป็นอเหตุกจิต ไม่มีชื่อนี้ แต่จิตประเภทนี้กำลังมี เพราะฉะนั้นเมื่อจิตประเภทนี้กำลังมี ก็คือเข้าใจให้ถูกต้องว่าจิตประเภทนี้กำลังมีชื่ออย่างนี้เพราะอะไร แต่ไม่ใช่ว่าเราไม่มีเลย แล้วเรามาพูดถึงสิ่งที่เราไม่มี ให้งง ให้เดือดร้อน ให้ต้องไปจำ ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ให้เข้าใจสิ่งที่มีโดยความต่างว่าขณะไหนเป็นจิตประเภทอะไร เป็นอกุศลจิต หรือว่าเป็นอเหตุกจิต หรือว่าเป็นกามโสภณจิต เป็นจิตฝ่ายดี นี่ก็คือการศึกษาให้เข้าใจ จนกว่าปัญญาของเราสามารถที่จะคล้อยตามความเป็นจริงคือความเป็นอนัตตา ไม่ใช่เราทั้งหมด ถ้าเราฟังน้อย เราไม่มีทางที่จะรู้ว่า ไม่ใช่เรา แต่ยิ่งฟังแล้วก็ไตร่ตรอง แล้วก็มีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ให้เข้าใจ ความรู้ของเราก็จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น
ที่มา ...