จะมีความติดข้องในอนิฏฐารมณ์ได้อย่างไร
มีคำถามว่า จะมีความติดข้องในอนิฏฐารมณ์ได้อย่างไร คำถามนี้ก็น่าคิดใช่ไหม เพราะว่าอารมณ์ที่กล่าวถึง ถ้าใช้คำว่าอิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์ หมายความถึงรูป ที่เป็นอารมณ์ ลักษณะของรูป ถ้าจะแยกโดยประเภทก็มี ๒ อย่าง คือ รูปที่น่าพอใจ กับรูปที่ไม่น่าพอใจ เวลาฟังธรรมต้องพิจารณาว่าจริงไหม รูปก็เป็นเพียงรูปเท่านั้นเอง แต่แม้กระนั้นลักษณะของรูปก็ต่างกัน รูปที่พอใจ ก็มีแน่นอน รูปที่ไม่น่าพอใจ ก็มี มิฉะนั้นเราก็ไม่ต้องมีโทสมูลจิตใช่ไหม ก็จะต้องมีแต่โลภมูลจิตเพราะว่ามีแต่รูปที่น่าพอใจ แต่เมื่อลักษณะของรูปมี ๒ อย่าง คือ รูปที่น่าพอใจก็มี รูปไม่น่าพอใจก็มี เพราะฉะนั้นจิตของเรา ก็จะหวั่นไหวไปตามรูปซึ่งเป็นอารมณ์ เช่น ถ้าเห็นสีสันวัณณะที่สวยงาม น่าพอใจ ติดข้อง หรือว่าปกติแล้วเราก็อาจจะพิจารณาตัวเราว่า เรากำลังชอบอะไร และก็สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่น่าชอบไหม ถ้าเป็นสิ่งที่น่าชอบ ลักษณะโดยทั่วไปก็จะเป็นอิฏฐารมณ์ คืออารมณ์ที่คนส่วนใหญ่ชอบ แต่จริงๆ แล้ว ถ้าไม่กล่าวถึงชื่อเลย เมื่อสภาพธรรมเกิดขึ้นแล้วก็เป็นผลของกุศลกรรม จิตที่เป็นผลของกุศลคือวิบากจิต เพราะฉะนั้นเมื่อเหตุมี ๒ คือ กุศลกรรม และอกุศลกรรม ผลก็ต้องมี ๒ ดังนั้น กุศลกรรม แม้ว่าจะได้ทำไปนานแล้วก็ตาม ดับไปแล้วก็ตาม แต่แรงกรรมก็ยังเป็นปัจจัยให้วิบากจิตเกิดขึ้น
เพราะฉะนั้นเวลาที่กล่าวเรื่องชาติของจิต จึงได้กล่าวเรื่องกิจการงานของจิตด้วย หลากหลาย เช่น เวลาที่ผลของกรรมเกิดขึ้นเริ่มตั้งแต่ปฏิสนธิ ซึ่งเราเลือกไม่ได้ นี่ก็แสดงให้เห็นว่า กรรมหนึ่งทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นแล้วแต่ว่าจะเป็นในสุคติภูมิ หรือทุกคติภูมิ แล้วก็จะมาถึงอารมณ์ เพราะเหตุว่าจิตปราศจากอารมณ์ไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นจิตก็จะมีการรู้อารมณ์ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น ที่เราเกิดเป็นมนุษย์ หรือเกิดในสวรรค์เป็นผลของกรรมทำให้จิตรู้อารมณ์ที่ดีซึ่งเป็นผลของกุศลกรรม
นี่ก็แสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวพันที่ว่า ถ้าเราจะเข้าใจอะไร เราก็ต้องเข้าใจต่อเนื่องกันด้วย เช่น ขณะเกิด ไม่ใช่ขณะนี้ และก็เป็นชาติอะไร เป็นชาติวิบาก แต่จิตต้องมีอารมณ์ แต่อารมณ์ไม่ปรากฏ จนกว่ากุศลกรรมจะให้ผล เห็นสิ่งที่ดีเมื่อไหร่ นั่นก็เป็นผลของกุศลกรรม ได้ยินเสียงที่ดีขณะไหน นั่นก็เป็นผลของกุศลกรรม ได้กลิ่นที่ดีก็เป็นผลของกุศลกรรม แสดงให้เห็นว่ารูปต่างกัน เป็นอิฏฐารมณ์ และอนิฏฐารมณ์ สำหรับผลของกรรม ถ้าเป็นผลของกรรมดีด้วยกุศลจิต ก็จะต้องรู้อิฏฐารมณ์ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เพราะฉะนั้นแสดงให้เห็นว่าก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าลักษณะของรูปเป็นอย่างนั้นจริงๆ คือที่เป็นอิฏฐารมณ์ก็ต้องต่างกับที่เป็นอนิฏฐารมณ์ ข้อนี้ก็คงจะไม่มีใครไม่เห็นด้วย ถ้ามีก็เชิญเพราะว่าเป็นการสนทนาธรรม
ที่มา ...