ลักษณะธรรมที่ไม่ชอบ กับ ลักษณะธรรมที่รังเกียจ
ผู้ฟัง ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ชอบ กับลักษณะของธรรมที่รังเกียจ ทั้ง ๒ อย่างนี้ แม้กระผมเองฟังดูแล้วก็คล้ายๆ กัน แต่ฟังๆ แล้ว ลักษณะไม่ชอบนี่เป็นอกุศล ลักษณะที่รังเกียจคล้ายๆ กับจะเป็นกุศล ท่านอาจารย์ช่วยกรุณาเพิ่มเติมรายละเอียดด้วย
ท่านอาจารย์ นี่เป็นเรื่องของภาษาซึ่งจะต้องเข้าใจว่า เวลาที่เรากล่าวถึงสภาวธรรม เราใช้ภาษาที่สามารถจะส่องถึงลักษณะที่แท้จริงของคำนั้นได้แค่ไหน ในแต่ละภาษา สำหรับภาษามคธคือภาษาบาลีแน่นอน เป็นภาษาที่สมบูรณ์ที่สุด ที่สามารถจะส่องให้เข้าใจอรรถนั้นกระจ่าง เพราะว่าลักษณะนั้นแม้แต่เพียงลักษณะเดียวก็สามารถที่จะใช้คำหลายๆ คำ ที่จะให้เข้าใจในลักษณะนั้น แต่ภาษาไทยเรา ที่ใช้คำว่าจิต เราเข้าใจว่าอย่างไร ก็ต้องมีคำอธิบาย ถ้ายิ่งเป็นภาษาอื่น เช่น ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส หรือภาษาต่างๆ ซึ่งไม่มีความเข้าใจ หรือความคิดในเรื่องของสภาพธรรม แล้วจะไปเอาคำที่จะส่องถึงอรรถนั้นได้อย่างไร
เพราะฉะนั้น แม้แต่คำที่คุณประทีปกล่าวถึง เช่นรังเกียจ หิริ-ละอาย โอตตัปปะ-รังเกียจ ไม่ใช่โทสะ แต่รังเกียจที่นี่ ภาษาไทย เราก็บอกว่าเรารังเกียจคนนั้น ขณะนั้นเป็นโทสะ เราไม่ชอบ ไม่ชอบขนาดมากถึงกับรังเกียจ ไม่ใช่เล็กๆ น้อยๆ แต่ว่าถ้าสำหรับคำว่าโอตตัปปะ ถ้าจะใช้คำว่าเกรงกลัว ก็ไปคิดว่าเรากลัวผี เรากลัวอะไรต่อไปอีกใช่ไหม
เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องภาษาที่จะมากั้นไม่ให้เราเข้าใจคำนั้นโดยที่ว่าเราชินกับความหมายในภาษานั้น แต่ว่าเราต้องเปลี่ยนความคิดที่เคยใช้ภาษานั้นโดยที่ไม่มีคำอื่นที่จะใช้แต่ก็ต้องใช้ แต่ต้องให้เข้าใจให้ถูกต้องว่าใช้โดยความต่างจากการที่เราเคยใช้นั้น เช่น คำว่ารังเกียจ ถ้าจะบอกว่าเราไม่อยากจะเข้าใกล้ สิ่งที่เรารังเกียจ ถ้าเกิดโอตตัปปะ เราก็ไม่อยากจะเข้าใกล้อกุศลธรรม เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจว่าเวลาที่เป็นโอตตัปปะ แม้จะใช้คำว่ารังเกียจ หรือจะมีคำอื่นซึ่งอาจจะดีกว่านั้นก็ได้ถ้าใครคิดออก หรือใครสามารถที่จะใช้คำที่คิดว่าจะทำให้คนเข้าใจความหมายของคำว่าโอตตัปปเจตสิก จะใช้คำว่ากลัว จะใช้คำว่าเกรง จะใช้คำว่าเห็นโทษ อะไรก็แล้วแต่ ที่ทำให้เกิดความต่างของ หิริ กับโอตตัปปะ
นี่ก็เป็นเรื่องที่ว่าถ้าเราได้ศึกษาความหมายจริงๆ แล้วก็ลักษณะของสภาพธรรมนั้น เราก็จะไม่ต้องไปคิดถึงคำ แต่ว่าเวลาที่สภาพธรรมนั้นเกิดขึ้นปรากฏ ลักษณะนั้นเราก็จะเข้าใจได้
ที่มา ...