พื้นฐานพระอภิธรรมเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่มั่นคง
ผู้ฟัง ผู้ที่ละกิเลสได้โดยไม่ขุ่นใจมีบ้างไหม เป็นคำเล็กๆ น้อยๆ ที่ฟังแล้วสะดุดใจว่า ท่านอาจารย์จะต้องการเตือนผู้ฟัง หรือเปล่าว่า ในขณะที่ฟังธรรม หรือจะทำอะไร ขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น มีความขุ่นใจไหม ลักษณะของขุ่นใจก็จะเป็นภาษาอีก ความขุ่นใจนี่แค่ไหน ระดับไหน ท่านอาจารย์จะเพิ่มเติมอย่างไร
ท่านอาจารย์ นี่เป็นเหตุที่เราจะต้องพูดถึงพื้นฐานของปรมัตถธรรม หรือพื้นฐานของพระอภิธรรม เพื่อที่จะทำให้เรามีความเข้าใจที่มั่นคง เป็นปัญญาของเราเองที่สามารถที่จะวินิจฉัย หรือเข้าใจสิ่งที่เราจะได้ยินได้ฟังต่อไปข้างหน้า เช่น ถ้าเข้าใจว่าปรมัตถธรรมมี ๔ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน เวลานี้ก็คงไม่ต้องกล่าวถึงนิพพานแน่นอน กล่าวเฉพาะจิต เจตสิก รูป ซึ่งมีเป็นปกติในชีวิตประจำวัน
เพราะฉะนั้นถ้าเราเข้าใจถูกจริงๆ ว่าปรมัตถธรรมเป็นสภาวธรรมมีลักษณะเฉพาะอย่าง แม้ว่าจะไม่เรียกชื่ออะไรเลย ใครก็ไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาวธรรมนั้นได้เลย ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ก็จะมีคำจำกัดความที่ว่า ขณะใดก็ตาม ที่ไม่มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ ขณะนั้นมีบัญญัติเป็นอารมณ์ เพียงเท่านี้ ชีวิตประจำวันเห็นเลย ว่าเรามีบัญญัติเป็นอารมณ์มากแค่ไหน ปรมัตถธรรมมีอายุที่สั้นมาก ถ้าเป็นรูปก็มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ถ้าเป็นจิตก็แสนเร็วคือชั่วขณะอุปาทะเกิดขึ้น ฐีติขณะ แล้วก็ภังคขณะที่ดับไป เร็วมาก
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าขณะนี้ เดี๋ยวนี้ ปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ก็มี แน่นอน มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา มีเสียงจริงๆ ลักษณะของเสียง แน่นอน ปรากฏ แต่ความคิดนึกเรื่องราวที่ติดตาม ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย มากมายสักแค่ไหน เพราะฉะนั้นก็สามารถจะเห็นได้ว่าวันหนึ่งๆ มีบัญญัติเป็นอารมณ์มาก หรือว่ามีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์มาก เพราะเหตุว่าเราเข้าใจถูกต้องแล้วว่าขณะใดก็ตามที่ไม่มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ ขณะนั้นมีบัญญัติเป็นอารมณ์
ผู้ฟัง ความเข้าใจเบื้องต้น ก็พอจะรู้ความจริงว่าธรรมเมื่อปรากฏจะต้องปรากฏต่ออะไร และเมื่อไหร่ อย่างไร ผู้นั้นก็จะเริ่มรู้เองได้ เป็นความเข้าใจขั้นพื้นฐานที่กระผมมาทบทวนกับท่านอาจารย์ จึงขอบพระคุณท่านอาจารย์
ที่มา ...