ภิกษุพึงมีสติเว้นรอบ
ข้อความต่อไปมีว่า
คำว่า ภิกษุพึงมีสติเว้นรอบ
พยัญชนะนี้คงจะได้ยินบ่อยๆ และข้อความตอนนี้ก็อธิบายความหมายของพยัญชนะนี้ว่า หมายความว่าอย่างไร
คำว่า ภิกษุพึงมีสติเว้นรอบ ความว่า ภิกษุพึงมีสติเว้นรอบ คือ พึงมีสติเดิน พึงมีสติยืน พึงมีสตินั่ง พึงมีสตินอน พึงมีสติก้าวไปข้างหน้า พึงมีสติถอยกลับ พึงมีสติแลดู พึงมีสติเหลียวดู พึงมีสติคู้เข้า พึงมีสติเหยียดออก พึงมีสติทรงผ้าสังฆาฏิ บาตร และจีวร พึงมีสติเที่ยวไป พึงมีสติอยู่ คือ เป็นไป เปลี่ยนแปลง รักษา บำรุง เยียวยา ให้เยียวยา
เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุพึงมีสติเว้นรอบ
เพราะเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ภิกษุไม่พึงติดใจในกามทั้งหลาย มีใจไม่ขุ่นมัว ฉลาดในธรรมทั้งปวง พึงมีสติเว้นรอบ
ขอให้สังเกตพยัญชนะที่ว่า พึงมีสติเดิน พึงมีสติยืน กำหนดให้พิจารณาบรรพไหนในมหาสติปัฏฐานหรือไม่
ในบางสูตรทรงอุปมาว่า สติปัฏฐานทั้ง ๔ เหมือนกับกองดินในทาง ๔ แพร่ง ซึ่งเมื่อรถผ่านไปก็ย่อมจะกระทบกองดินที่กองอยู่ในหนทางนั้นทั้ง ๔ ได้ เหมือนกับเวลาที่มีสติ เป็นผู้ที่ไม่หลงลืมสติ สติก็ย่อมจะระลึกที่กายบ้าง แต่ไม่นาน ระลึกที่เวทนาบ้างได้ไหม ห้ามหรือเปล่า หรือว่าระลึกที่จิตได้ไหม ระลึกที่ธรรมหนึ่งธรรมใดได้ไหม ก็เป็นของที่มีจริง แล้วเป็นผู้ที่มีสติ ไม่ใช่หลงลืมสติ เมื่อสิ่งที่มีจริงมีต่างๆ ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ลิ้นบ้าง กายบ้าง ใจบ้าง เมื่อเป็นผู้ที่มีสติแล้ว สิ่งใดปรากฏ สติก็ย่อมระลึกลักษณะของสิ่งที่ปรากฏได้
เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีสติเว้นรอบ คือ พึงมีสติเดิน พึงมีสติยืน พึงมีสตินั่ง พึงมีสตินอน พึงมีสติก้าวไปข้างหน้า พึงมีสติถอยกลับ พึงมีสติแลดู พึงมีสติเหลียวดู พึงมีสติคู้เข้า พึงมีสติเหยียดออก พึงมีสติทรงผ้าสังฆาฏิ บาตร และจีวร พึงมีสติเที่ยวไป ไม่ว่าจะไปที่ไหน พึงมีสติอยู่ คือ เป็นไป เปลี่ยนแปลง รักษา บำรุง เยียวยา ให้เยียวยา
ในธรรมวินัย ไม่ใช่ให้ไม่รู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร การเจริญสติไม่ใช่ให้เกิดความไม่รู้ จะรับประทานอาหารก็ไม่ได้ นอนก็ไม่ถูก ทำอะไรก็ไม่ได้ทั้งนั้น ถ้าเป็นการที่ไม่รู้อย่างนั้น แต่ในพระธรรมวินัยกล่าวว่า พึงมีสติเที่ยวไป พึงมีสติอยู่ คือ เป็นไป เปลี่ยนแปลง รักษา บำรุง เยียวยา ให้เยียวยา เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุพึงมีสติเว้นรอบ เว้นจากความไม่รู้ เว้นจากการที่จะไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามของรูป เว้นจากการที่เคยยึดถือสภาพธรรมทั้งหลายว่าเป็นตัวตน