ผู้ที่เริ่มเจริญสติปัฏฐานจะหนีพ้นความจงใจ ตั้งใจได้ไหม
ผู้ฟัง ในชีวิตประจำวันของคนทั่วไป ย่อมหลีกไม่พ้นความตั้งใจก่อนที่จะทำอะไร อาจารย์คิดว่าผู้ที่เริ่มต้นเจริญสติปัฏฐานจะหนีพ้นความตั้งใจ จงใจที่จะเจริญ สติปัฏฐานได้หรือไม่
ท่านอาจารย์ ผู้ที่เริ่มเจริญสติปัฏฐาน หมายความว่า ผู้ที่เข้าใจการเจริญสติปัฏฐานถูกต้องว่า สติเป็นอนัตตา เป็นสภาพที่ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ความตั้งใจในวันหนึ่งๆ นี้มีมากหลายเรื่อง แต่ขณะใดที่สติไม่ระลึกรู้ว่า แม้ลักษณะที่ตั้งใจนั้น ก็เป็นเพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง ถ้าไม่ระลึกรู้อย่างนี้ก็เป็นเรา เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน
แต่สติเป็นสภาพที่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมของรูปธรรมถูกต้องตามความเป็นจริง เมื่อความตั้งใจเป็นสภาพธรรมที่มีจริงเกิดขึ้น สติก็ระลึกรู้ได้แม้ในขณะนั้นว่าเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง
เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะเจริญสติเป็นผู้ที่เข้าใจลักษณะของสติว่า เป็นสภาพที่ระลึกลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ซึ่งมีอยู่เพียง ๒ อย่างที่ต่างกันโดยประเภท คือ ที่เป็นสภาพรู้กับสภาพที่ไม่ใช่สภาพรู้
ถ้าเป็นสภาพรู้ก็เป็นความคิดนึก เป็นความต้องการ เป็นความตั้งใจ เป็นความสุข เป็นความทุกข์ เป็นความจำ เหล่านี้เป็นต้น นั่นเป็นลักษณะของนามธรรมที่มีลักษณะแต่ละอย่างๆ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยต่างกัน
ในวันหนึ่งๆ มีนามธรรมมากมาย มีรูปธรรมมากมาย สติจะต้องระลึกรู้ว่าไม่ใช่ตัวตน และก็รู้ถูกต้องตรงลักษณะของสภาพของนามธรรมรูปธรรมนั้นด้วย