อุเบกขาเป็นความมั่นคงไม่หวั่นไหวด้วยกำลังของปัญญา


    ผู้ฟัง อุเบกขาคืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ อุเบกขา หมายความถึง การไม่หวั่นไหวไปด้วยความชอบใจ และไม่ชอบใจ ซึ่งอุเบกขาต้องเป็นกุศล เป็นสติ เป็นปัญญาที่ทำให้ตั้งมั่นได้

    ในพยัญชนะหลายแห่งจะมีคำว่า กุศลธรรมอันอิงอาศัยอุเบกขา คือ ความมั่นคง ไม่หวั่นไหวไปด้วยกำลังของปัญญาที่เกิดพร้อมสติ และในบางแห่งก็มีคำอธิบายว่า หมายความถึงวิปัสสนาญาณ

    เพราะฉะนั้น บางทีพยัญชนะก็ดูเหมือนกับเป็นสมาธิ แต่ถ้าเป็นการเจริญสติ-ปัฏฐานย่อมหมายความถึง การละเป็นสมุจเฉท ไม่ใช่เพียงชั่วครู่ชั่วคราว การละนิวรณ์ก็เหมือนกัน ถ้ามีพยัญชนะว่า ละนิวรณ์ ไม่ใช่หมายความว่า ให้ละอย่างสมาธิ คือ ชั่วครู่ที่สงบเป็นสมาธิ แต่หมายความว่าด้วยการเจริญปัญญารู้ชัด แล้วก็ดับนิวรณ์เป็นสมุจเฉท เป็นประเภทๆ ไป

    ผู้ฟัง หมายถึงอุเบกขาเวทนาหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้หมายความถึงอุเบกขาเวทนา หมายความถึงกุศลที่เป็นสติปัญญาที่ทำให้ไม่หวั่นไหวไปด้วยความชอบความไม่ชอบ หรือการยึดถือว่าเป็นตัวตน

    ผู้ฟัง ทำอย่างไรจึงเป็นอุเบกขา

    ท่านอาจารย์ เจริญสติ ไม่ใช่มีตัวตนไปทำอย่างนั้น ไปทำอย่างนี้ ไม่ใช่มีตัวตนไปเป็นอุเบกขาได้ตามใจชอบ เป็นสติที่มั่นคง ปัญญารู้ชัด ไม่หวั่นไหวไป

    ผู้ฟัง ขณะที่จิตเป็นอุเบกขา มั่นคงอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เจริญสติแล้วจะทราบ ถ้าไม่มีสติ ก็ไม่มีทางที่จะมั่นคงอย่างนั้นได้ รู้ ลักษณะของนามของรูป รู้ชัด ในขณะนั้นก็ไม่ได้ยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็น บุคคล เพราะรู้ว่าสภาพธรรมทั้งหลายล้วนแต่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เมื่อระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมใด สภาพธรรมนั้นก็ดับ ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล


    หมายเลข 6482
    31 ก.ค. 2567