ธรรมฝึกให้จิตเราดีขึ้นได้ไหม
ผู้ฟัง ผมมีความรู้สึกอยู่เสมอว่าการปฏิบัติธรรม ฝึกได้ หรือไม่ ฝึกให้จิตเราดีขึ้นได้ หรือไม่
ท่านอาจารย์ ก็เป็นเรื่องของภาษานี้แน่นอน เมื่อได้ยินคำว่า “ฝึก” เราคิดอย่างไร เดิมทีเดียวเราก็คิดว่าเป็นเราที่ฝึก แต่ถ้าได้ฟังธรรมแล้วเราก็ไม่ควรจะทิ้งความหมายที่เราเริ่มเข้าใจตั้งแต่คำแรกคือ "ธรรม" และ"อนัตตา " ทิ้งไม่ได้เลย เพราะถ้าเราทิ้งความหมายที่เราเข้าใจถูกต้องในขั้นต้นเราจะหลงทาง เมื่อได้ยินคำว่า “ฝึก” ไม่ว่าจะที่ไหน หรือข้อความที่คล้ายๆ กัน ซึ่งบางท่าน ก็อาจจะว่าเรื่องทำอย่างไร เช่น ละชั่ว ก็เหมือนทำ เจริญ หรือบำเพ็ญความดีให้ถึงพร้อม ก็เหมือนทำ ชำระจิตให้บริสุทธิ์ก็เหมือนทำ จะใช้คำว่า “ฝึก” หรือจะใช้คำว่า “ทำ” เราคุ้นเคยในใจของเรา แต่ว่าถ้าได้ฟังธรรมแล้วเราต้องไม่ลืมเลยว่า แท้ที่จริงแล้วเราต้องเข้าใจให้ตรงว่าไม่มีเรา แต่มีสภาพธรรม ฉะนั้น การที่สภาพธรรมเกิดบ่อยๆ นั่นก็คือการสะสม ถ้าไม่เข้าใจว่าเป็นธรรมเราก็บอกว่า “เราฝึก” แต่ความจริงหา “เรา” จากที่ไหน เพราะแม้แต่เราขณะนั้น ถ้าเราจะพูดถึง"วิริยะ" ก็เกิดแล้วกับจิตเกือบทุกดวง เว้นจิต ๑๖ ดวงที่เป็นอเหตุกะ เพราะฉะนั้นเราจะต้องมานั่งคำนึงถึงว่าเราจะต้องมีวิริยะ หรือว่าเราจะควรเข้าใจให้ถูกต้องว่าวิริยะก็ไม่ใช่เรา แล้วก็เกิดแล้วก็จะเป็นกุศล หรืออกุศล ขณะใดที่มีความคิดว่าเราเพียร ขณะนั้นเห็นถูก หรือไม่
เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงแสดงธรรมเพียงครึ่งหนึ่งในเรื่องละชั่ว หรือว่าให้ทำความดีให้ถึงพร้อม แต่ทรงแสดงถึงที่สุด เพราะฉะนั้น เมื่อเรามีโอกาสที่จะได้ฟัง ได้เข้าใจความเป็นอนัตตาของธรรม ทำไมเรายังไปติดว่าเราฝึกได้ หรือว่าเป็นเราที่ฝึก แต่ว่าถ้าเรามีความเข้าใจที่ถูกต้อง ทุกขณะไม่มีช่องทางที่ความเป็นเรา ความเป็นตัวตน จะเกิดขึ้นได้ ตั้งแต่ปฏิสนธิจิตเกิดแล้วดับก็เป็นอนันตรปัจจัย ที่จะทำให้จิตแต่ละขณะเกิดสืบต่อแล้ว โดยที่ว่าไม่มีเรา แต่ว่ามีการที่จะได้ยินได้ฟังเป็นการอบรมซ้ำบ่อยๆ จนกระทั่งเป็นความชำนาญ เป็นความเข้าใจเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะถามเรื่องของฝึก เรื่องของทำ เรื่องของอะไรก็ตามก็ให้ทราบว่า ในใจของเราๆ คิดอย่างไร เราคิดว่าเป็นเรา หรือว่าเราเข้าใจถูกต้องว่าเป็นปรมัตถธรรม
ที่มา ...