เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ โดยนัยเดียวกัน
สำหรับเรื่องของเวทนาขันธ์ ก็โดยนัยเดียวกันกับรูปขันธ์ เปลี่ยนแต่พยัญชนะ คือ
ประการที่ ๑ ย่อมเห็นเวทนาโดยความเป็นตน ๑
ประการที่ ๒ ย่อมเห็นตนมีเวทนา ๑ ยึดถือว่าสัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ และรูปขันธ์เป็นตน เพราะฉะนั้น จึงถือว่า ย่อมเห็นตนมีเวทนา
ประการที่ ๓ ย่อมเห็นเวทนาในตน ก็โดยนัยเดียวกัน เมื่อยึดถือสัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ รูปขันธ์ว่าเป็นตัวตน ก็ย่อมเห็นเวทนาในตน
ประการที่ ๔ ย่อมเห็นตนในเวทนา ก็โดยนัยเดียวกัน คือ ยึดถือสัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ และรูปขันธ์ว่าเป็นตน เพราะฉะนั้น ก็ย่อมเห็นตนในเวทนา
เปลี่ยนไปแต่พยัญชนะ แล้วก็เปลี่ยนขันธ์ไปเรื่อยๆ ขันธ์ละ ๔ ลักษณะ ก็เป็น ๒๐ เพราะว่าโดยมากก็พูดกันย่อๆ ว่าสักกายทิฏฐิ ยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตน บางครั้งก็ยึดสภาพธรรมนั้น บางครั้งก็ยึดสภาพธรรมนี้ทั่วไปหมด เพราะความไม่รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ