อวิชชาสวะ - อวิชชาเปรียบด้วยลิ่มสลักตรงประตูเมือง
สำหรับ อวิชชาสวะ ใน ปปัญจสูทนี ได้ทรงแสดง เปรียบอวิชชาด้วยลิ่มสลัก ซึ่งก็เป็นลิ่มสลักของประตูเมืองที่ปิดกั้นคนข้างนอก และข้างในไม่ให้ผ่านไปมาได้
ลิ่มสลัก คือ อวิชชาในญาณมุขของผู้ใดตกไป การเข้าถึงญาณที่จะให้บรรลุพระนิพพานของผู้นั้นถูกปิดลง เข้าประตูพระนิพพานไม่ได้
ไปติดสลักคือ อวิชชาอยู่ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า การละอวิชชา เริ่มต้นด้วยการเรียน สอบถามกัมมัฏฐาน
ญาณมุข คือ ข้อประพฤติปฏิบัติที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม คือรู้ว่า สิ่งใดเป็นทุกข์ หรือว่าทุกข์นั้นได้แก่อะไร ทุกข์ได้แก่ความเกิดขึ้น และดับไปของนาม และรูป โดยไม่ต้องเลือก นามรูปเกิดขึ้น และดับไปอยู่แล้ว แต่ปัญญายังไม่สมบูรณ์จึงยังไม่ประจักษ์ เพราะฉะนั้น หน้าที่ของผู้เจริญสติปัฏฐานคือ เจริญสติให้เกิดความรู้ชัดในลักษณะของนามของรูป เพื่อที่จะได้ละคลายความไม่รู้
บางท่านฟังปริยัติมีความเข้าใจชัดเจนในการเจริญสติปัฏฐาน แต่เวลาเจริญสติจริงๆ ไม่ได้เป็นอย่างนั้น ความต้องการเข้ามาแทรก เข้ามาบิดเบือนเล็กๆ น้อยๆ ด้วยความหวังผลว่าให้ทำอย่างนั้น มีตัวตนเข้าไปแทรก
เวลาที่ฟังเรื่องการเจริญสติปัฏฐานก็เข้าใจถูกต้อง แต่เวลาสติเกิดจริงๆ ไม่เป็นเหมือนอย่างที่ฟังแล้วเข้าใจ เพราะเหตุว่าอวิชชานั้นหลายขั้นมากมายเหลือเกิน กำลังฟังพิจารณาเหตุผลแล้วเข้าใจถูกเป็นญาณสัมปยุตต์ เป็นกุศลจิต ไม่ใช่อวิชชา แต่อวิชชานั้นไม่ใช่หมดไปด้วยการฟัง อวิชชายังมีกิจที่จะทำงานจริงๆ อีกมากมายหลายขณะ เพราะเหตุว่ายังไม่ได้อบรมเจริญสติจนกระทั่งสามารถสำเหนียกสังเกตรู้จริงๆ ว่า ขณะนั้นจิตยังมีความต้องการ ยังมีตัวตนที่แฝงอยู่ ทำให้จงใจ หรือว่าประพฤติปฏิบัติคลาดเคลื่อนไปอย่างไรบ้าง
เพราะฉะนั้น อวิชชานี้ก็กั้นได้หลายขั้น ถ้าไม่ฟังธรรม อวิชชาก็กั้นอยู่ตลอดเปรียบเหมือนลิ่มสลัก สำหรับอวิชชาสวะนี้จะละดับหมดสิ้นเป็นสมุจเฉทด้วยอรหัตตมรรค
ในวันหนึ่งๆ กามาสวะก็มีทุกขณะที่สติไม่เกิด ภาวสวะก็มี ทิฏฐาสวะก็มี อวิชชาสวะก็มี ไหลไปเป็นกระแสของจิตที่เป็นอกุศลอยู่เรื่อยๆ ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามของรูป