การเจริญสติเพื่อละกิเลสที่หนาแน่น
ผู้ฟัง เมื่อคราวที่แล้ว อาจารย์ได้อธิบายถึงความหมายของคำว่า เห็นรูปโดยความเป็นตน เห็นตนมีรูป เห็นรูปในตน เห็นตนในรูป เฉพาะข้อ ๒ ข้อ ๓ ข้อ ๔ หมายความถึงไปยึดมั่นนามขันธ์ทั้ง ๔ คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นตน เลยเข้าใจว่าตนนั่นแหละมีรูป หรืออะไรเช่นนี้
นามขันธ์ ๔ ทั้งหมด ใน ๔ ข้อนี้เอานามทั้งนั้นมาเป็นตน บางท่านอธิบายว่าการที่ต้องพิจารณาเฉพาะนามอย่างนี้ เพราะว่าเมื่อตาเห็นสี ให้พิจารณาเฉพาะเห็น พิจารณาที่จิตเห็น อย่างนี้จะสงเคราะห์เข้ามาเป็นตนมีรูป เห็นรูปในตน อะไรอย่างนี้ได้ไหม
ท่านอาจารย์ ทรงแสดงสักกายทิฏฐิไว้ไม่ใช่เพียง ๕ คือ ไม่ใช่ยึดถือรูปว่าเป็นตน เวทนาว่าเป็นตน สัญญาว่าเป็นตน สังขารขันธ์ว่าเป็นตน หรือวิญญาณว่าเป็นตนเท่านั้น แต่ยังทรงจำแนกไปถึง ๒๐ ประการ คือ ขันธ์ละ ๔ อย่าง
ผู้ที่เจริญสติสามารถสำเหนียกรู้ลักษณะของสักกายทิฏฐิในขณะนั้นว่าเป็นอย่างไร บางท่านที่เริ่มระลึกรู้ลักษณะของรูปแต่ไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของนาม ก็เกิดความรู้สึกว่า สิ่งที่กำลังปรากฏเป็นรูป แต่สักกายทิฏฐิยังอยู่ที่นามขันธ์ คือ ที่เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ที่ยังไม่ได้พิจารณาว่าเป็นนามธรรม ก็เห็นว่านามธรรม คือ เวทนา สัญญา สังขาร หรือวิญญาณ ในขณะนั้นเป็นตัวตนที่มีรูป (ซึ่งกำลังพิจารณานั้น) ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ไม่ใช่มีแต่นามขันธ์ ๔ แล้วสัตว์บุคคลนี้ยึดถือรูปขันธ์ และนามขันธ์ ๔ ว่าเป็นตัวตน แต่เวลาที่พิจารณาเพียงบางสิ่งบางประการ เธอๆ ก็ยังแอบแฝงอยู่ที่ขันธ์อื่นที่ยังไม่ได้พิจารณา
เพราะฉะนั้น ถ้าในขณะที่กำลังพิจารณาระลึกรู้นามขันธ์หนึ่งนามขันธ์ใด เป็นต้นว่า จะระลึกรู้ลักษณะของวิญญาณขันธ์ว่าเป็นนามธรรม แต่ไม่ได้พิจารณารูปขันธ์ ก็ยึดถือว่า รูปขันธ์นั้นเป็นตัวตน และก็ยังมีความยึดถือต่อไปอีก แล้วแต่ว่าจะเป็นในข้อไหน
ผู้ฟัง ที่ท่านให้กำหนดเฉพาะ พิจารณาเฉพาะขันธ์
ท่านอาจารย์ ขอให้อ้างข้อความในพระไตรปิฎกสักแห่งหนึ่งที่ให้เจาะจงพิจารณาแต่เฉพาะว่า ทางตาให้รู้แต่เห็นไม่ให้รู้สี ทางหูให้รู้แต่ได้ยินไม่ให้รู้เสียง ทางจมูกให้รู้แต่กลิ่นไม่ให้รู้สภาพที่รู้กลิ่น ทางลิ้นให้รู้แต่รสไม่ให้รู้สภาพที่รู้รส ทางกายให้รู้แต่เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ไม่ให้รู้สภาพที่รู้เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ขอพยัญชนะข้อความที่ปรากฏในพระไตรปิฎก ซึ่งก็ไม่มี