เรื่องเหตุ
เพราะฉะนั้นก็ขอพูดถึงเรื่องเหตุ ก่อนที่เราจะได้ฟังธรรม ไม่รู้อะไรเลย ใช่ไหม แต่ก็เข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นเหตุที่ทำให้เราเป็นอย่างนี้ หรือว่าเพราะเราเห็นสิ่งที่ไม่ดี ใจของเราก็ขุ่นมัว หรือเมื่อได้ยินเสียงที่ไม่น่าฟัง ใจของเราก็ขุ่นเคือง เมื่อได้ยินเสียงที่น่าฟัง มีเรื่องมีราวในชีวิตประจำวัน เราก็เข้าใจว่านั่นเป็นเหตุที่ทำให้เรามีความสุขบ้าง มีความทุกข์บ้าง แต่นั่นโดยไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม จึงมีความเข้าใจในเรื่องตัวตน ในเรื่องเรา และในเรื่องเหตุ โดยการคิดเอาเองว่าสิ่งนั้นก็เป็นเหตุ สิ่งนี้ก็เป็นเหตุ แต่จริงๆ ก็ถูกต้อง ถ้าได้ฟังว่าทุกอย่างต้องมีเหตุ และเหตุไม่ได้หมายเฉพาะแต่เหตุเจตสิก ๖ แม้อวิชชาก็เป็นสาธารณะเหตุ เพราะฉะนั้นเวลาที่เราฟังธรรม ต้องฟังให้รู้ว่าขณะนี้เรากำลังฟังตรงไหน เรื่องอะไร ถ้าเราจะฟังเรื่องเหตุเจตสิก ๖ ก็หมายความว่าขณะนี้เราไม่ได้พูดถึงอื่น อุดมเหตุคือกรรม ทุกอย่างแล้วแต่กรรม ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นถ้าไม่มีกรรมเป็นปัจจัย วิบากทั้งหลายก็เกิดไม่ได้ เห็นก็ไม่มี ได้ยินก็ไม่มี ได้กลิ่นก็ไม่มี เหล่านี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นจึงเป็นผู้ที่เข้าใจสิ่งที่กำลังได้ฟัง และรู้ว่ากำลังพูดเรื่องอะไร เช่น พูดเรื่องเหตุปัจจัย
ถ้าใช้คำว่าเหตุปัจจัย ทุกอย่างเป็นปัจจัย แต่ปัจจัยโดยความเป็นเหตุมี ๖ ได้แก่สภาพธรรมที่เป็นเจตสิก ๖ และก็ได้ฟังกันมาจนกระทั่งถึงเหตุกับนเหตุ อเหตุกะกับสเหตุกะ ซึ่งก็คงจะไม่มีใครที่บอกว่าไม่รู้จัก ๔ คำนี้แล้วใช่ หรือไม่ มีใครที่ไม่เข้าใจ ไม่รู้จัก หรือลืมไปแล้วว่า๔ คำนี้คืออะไร ถ้าลืมก็ทบทวนกันอีกว่าเมื่อเจตสิกที่เป็นเหตุมี ๖ สภาพธรรมอื่นที่เป็นปรมัตถธรรมทั้งหมดเลยไม่ใช่เหตุ จิตเป็นเหตุ หรือไม่ จิตไม่เป็นเหตุ เจตสิกเป็นเหตุ หรือไม่ เจตสิก ๖ เป็นเหตุ เจตสิกอื่นไม่ใช่เหตุ รูปเป็นเหตุ หรือไม่ ไม่ใช่ นิพพานเป็นเหตุ หรือไม่ ไม่ใช่ สำหรับ สเหตุกะกับอเหตุกะซึ่งไม่ยาก เพราะอเหตุกะหมายถึงสภาพธรรมใดๆ ทั้งหมดที่ไม่มีเจตสิก ๖ เกิดร่วมด้วยเป็นอเหตุกะ นอกจากนั้นแล้วเป็นสเหตุกะ ต้องมีเหตุ ๑ หรือ๒เหตุ หรือ๓เหตุ คือเหตุ ๖นั่นเองเกิดร่วมด้วยจึงจะเป็นสเหตุกะ ก็คงจะไม่ลืมใช่ไหม
ครั้งก่อนเราก็ได้กล่าวถึงเรื่องของการที่เราจะรู้เหตุในชีวิตประจำวัน ทุกอย่างต้องมาจากสิ่งที่มีจริงๆ และก็สามารถที่จะเข้าใจได้ ถ้าธรรมที่เราได้เรียนไปแล้ว เราไม่สามารถที่จะเข้าใจในขณะที่เป็นชีวิตประจำวันได้ เราจะเข้าใจธรรมได้ไหม หรือว่าเราเพียงแต่จำชื่อว่าชื่อนี้หมายความว่าอย่างนั้น แต่เวลาที่สภาพธรรมจริงๆ เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เราไม่รู้เลยว่าที่เราเรียนมาทั้งหมด เป็นสิ่งที่เราได้ฟังมาแล้วเมื่อไร เพราะฉะนั้นเราจึงได้เริ่มตั้งแต่ปฏิสนธิจิตซึ่งดับไปแล้ว ก็ไม่มีการที่จะเข้าใจอะไรได้ แต่ว่าทรงแสดงไว้ แต่ขณะนี้เรายังไม่กล่าวถึง ก็กล่าวถึงเฉพาะวันหนึ่งๆ ซึ่งเรานอนหลับสนิท ต้องมีจิต ประกอบด้วยเหตุ หรือไม่ประกอบด้วยเหตุ คือธรรมเป็นเรื่องไตร่ตรอง สามารถที่จะเข้าใจได้ถึงความหลากหลายของคนที่เกิดมา คนที่เกิดมาพิการตั้งแต่กำเนิดก็มี สติปัญญาอ่อนก็มี หรือเป็นผู้ที่มั่งคั่งสมบูรณ์พร้อมทุกอย่างแต่ไม่ประกอบด้วยปัญญาก็มี หรือว่าเป็นผู้ที่มีปัญญาแต่ไม่ได้อยู่ในฐานะที่มั่งคั่งเพียบพร้อมสมบูรณ์ก็มี
เพราะฉะนั้นเมื่อปฏิสนธิจิตเป็นอย่างไร ดับไปแล้ว ภวังคจิตเกิดต่อดำรงภพชาติในขณะที่ไม่มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ขณะนั้นเป็นภวังค์ก็เหมือนกับปฏิสนธิจิต เพราะเหตุว่าเป็นผลของกรรมเดียวกับปฏิสนธิจิต ถ้ากรรมนั้นเป็นอกุศลกรรมทำให้วิบากจิตทำกิจปฏิสนธิ ไม่ต้องมีเหตุเกิดร่วมด้วยเลย ดี หรือไม่ ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด กรรมให้ผลนี้แน่นอน แล้วเวลาที่กรรมนั้นครบสมบูรณ์พร้อมถึงกาละที่จะให้ผล ถ้าจุติจิตขณะสุดท้ายจากโลกนี้ดับแล้ว อกุศลกรรมให้ผล ทำให้อกุศลวิบากทำกิจปฏิสนธิ ไม่ต้องมีเหตุใดๆ เกิดร่วมด้วยเลย เพราะเหตุว่ากรรมที่ได้กระทำแล้วให้ผลด้วยกำลังของกัมมปัจจัย เพราะฉะนั้นสำหรับอกุศลกรรม เวลาที่ให้ผลเป็นปฏิสนธิจิต ไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพราะว่าเป็นผลของอกุศลกรรม ไม่มีอโลภะ อโทสะ อโมหะเกิดร่วมด้วย และไม่มีโลภะ โทสะ โมหะซึ่งเป็นเหตุเกิดร่วมด้วยเพราะเหตุว่า โลภะ โทสะ โมหะ เกิดขณะใดเป็นอกุศลขณะนั้น จะเป็นชาติอื่นไม่ได้ ต้องเป็นอกุศลชาติเดียว เป็นวิบากก็ไม่ได้ เป็นกิริยาก็ไม่ได้ เป็นกุศลก็ไม่ได้ เป็นได้เฉพาะอกุศล
เพราะฉะนั้นเห็นกำลังของกรรม หรือไม่ กรรมที่ทำไว้ ไม่ว่าจะเป็นอกุศลกรรมที่แรงร้ายขนาดไหน แต่เวลาที่ให้ผล ให้ผลเป็นอกุศลวิบากจิต ๗ ดวง และจิตที่ทำกิจปฏิสนธิไม่พ้นจากอกุศลวิบากจิต เพราะฉะนั้นต่อไปก็จะทราบได้ว่าอกุศลวิบากจิต ๗ ประเภทไหนทำกิจปฏิสนธิ แต่ว่าไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย เกิดเป็นสัตว์ตัวใหญ่ๆ ก็เป็นผลของอกุศลกรรม ปฏิสนธิจิตของช้างมีเหตุเกิดร่วมด้วย หรือไม่ ไม่มี ของมด ของนก ของเต่า ของปลา เหมือนกันหมด เราอาจจะคิดว่าอกุศลกรรมไม่ว่าจะร้ายแรงมากมายสักเท่าไรก็ให้ผลเป็นอกุศลวิบาก ๗ แต่ถึงแม้เพียง ๗ ก็มีความหลากหลายตามกรรมที่ได้กระทำ เช่น เหตุใดเกิดเป็นมดตัวเล็ก เหตุใดเกิดเป็นช้างตัวใหญ่ มีใครจะตอบไหม
ที่มา ...