ธรรมชาติที่ชื่อว่า จิต มนะ หทัย
ข้อความในอัฏฐสาลินี อรรถกถา ธัมมสังคณีปกรณ์ จิตตุปปาทกัณฑ์ อธิบาย จิตตนิทเทส มีข้อความว่า
ธรรมชาติที่ชื่อว่า “จิต” เพราะจิตเป็นธรรมชาติวิจิตร
ที่ชื่อว่า “มนะ” เพราะรู้อารมณ์
ที่ชื่อว่า “หทัย” เพราะความหมายว่า เป็นสภาวะอยู่ภายใน
อย่าลืมนะคะ เป็นสภาวะอยู่ภายใน ในจนกระทั่งลึกซึ้ง และมองไม่เห็นเลย เพราะเหตุว่าจิตไม่ได้อยู่ภายนอกที่จะสัมผัสกระทบหรือแสวงหาได้ แต่ที่จะรู้ลักษณะของจิตได้ก็ต่อเมื่อจิตเกิดขึ้นรู้ คือ เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ได้อยู่ข้างนอกไม่ใช่โต๊ะ เก้าอี้ รูปสีสันวัณณะข้างนอก แต่เป็นธาตุรู้ภายใน เป็นเพียงธาตุชนิดหนึ่งซึ่งต่างจากรูปธาตุทั้งหลาย เพราะเหตุว่ารูปธาตุทั้งหลายแสวงหาได้ภายนอก ไม่ว่าจะเป็นธาตุอะไรก็ตาม อยู่ที่โน่นบ้าง อยู่ที่นี่บ้าง แต่ว่าธาตุรู้ไม่มีใครจะไปแสวงหาที่อื่นได้ ไม่สามารถที่จะเข้าห้องทดลองแล้วสร้างธาตุรู้ขึ้น แต่ว่าธาตุรู้เป็นสภาพรู้ หรือเป็นธาตุรู้ที่เกิดขึ้นรู้ในขณะที่กำลังเห็น
เพราะฉะนั้นที่จะรู้ชัดในลักษณะของธาตุรู้ ก็คือพิจารณาในขณะที่กำลังเห็น ถ้าไม่มีการเห็นก็จะไม่รู้ว่า มีธาตุรู้สีสันวัณณะที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ สีสันวัณณะปรากฏ เพราะมีสภาพที่กำลังรู้ คือ เห็นสิ่งที่ปรากฏ ถ้าจิตไม่เกิดขึ้นเห็น สีสันวัณณะที่กำลังปรากฏในขณะนี้ปรากฏไม่ได้เลย ดูเป็นของธรรมดาสีสันวัณณะต่าง ๆ ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ปรากฏไม่ได้เลย ถ้าจิตไม่เกิดขึ้นรู้ ไม่เกิดขึ้นเห็น
เพราะฉะนั้นธาตุรู้นั้นเป็นภายใน เป็นเพียงธาตุที่เกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏ หรือว่าได้ยินเสียงที่กำลังปรากฏ