อธิบายคำว่า จิตตัง


    ขอกล่าวถึงคำอธิบายว่า “จิต” ในอัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ ซึ่งมีคำอธิบายต่อไปว่า

    จะอธิบายคำว่า “จิตตํ” ต่อไป ที่ชื่อว่า จิต เพราะอรรถว่า คิด อธิบายว่า รู้แจ้งอารมณ์

    อีกอย่างหนึ่ง เพราะเหตุที่ศัพท์ว่า “จิตตํ” นี้ ทั่วไปแก่จิตทุกดวง ฉะนั้น ในคำว่า “จิตตํ” นี้ กุศลจิตฝ่ายโลกีย์ อกุศลจิตและมหากิริยาจิต จึงชื่อว่า จิต เพราะสั่งสมสันดานของตน ด้วยสามารถแห่งชวนวิถี

    ที่ชื่อว่า “จิต” เพราะเป็นธรรมชาติอันกรรมกิเลสสั่งสมวิบาก

    อนึ่ง “จิต” แม้ทุกดวงชื่อว่า จิต เพราะเป็นธรรมชาติวิจิตรตามสมควร

    ชื่อว่า “จิต” เพราะกระทำให้วิจิตร

    ซึ่งถ้าท่านผู้ฟังจะศึกษาจากตำราที่มีผู้รวบรวมไว้ ก็จะทราบว่า ลักษณะของจิต ๖ อย่าง ที่กล่าวถึงในตำราทั้งหลายเหล่านั้น มาจากข้อความนี้ คือ ในอัฏฐสาลินีอรรถกถาธัมมสังคิณี ซึ่งอธิบายคำว่า “จิต” ซึ่งสามารถจะแยกออกได้เป็นข้อ ๆ คือ

    ที่ชื่อว่า “จิต” เพราะอรรถว่าคิด อธิบายว่า รู้แจ้งอารมณ์ ๑

    อีกอย่างหนึ่ง เพราะเหตุที่ศัพท์ว่า “จิตตํ” นี้ ทั่วไปแก่จิตทุกดวง เพราะฉะนั้น ในคำว่า “จิตตํ"”นี้ กุศลจิตฝ่ายโลกีย์ อกุศลจิตและมหากิริยาจิต จึงชื่อว่า “จิต” เพราะสั่งสมสันดานของตน ด้วยสามารถแห่งชวนวิถี ๑

    ที่ชื่อว่า “จิต” เพราะเป็นธรรมชาติอันกรรมกิเลสสั่งสมวิบาก ๑

    อนึ่ง จิตแม้ทุกดวง ชื่อว่า “จิต” เพราะเป็นธรรมชาติวิจิตรตามสมควร

    ข้อนี้ส่วนมากในตำราจะแยกออกเป็น ๒ ข้อ คือ เพราะวิจิตรด้วยอารมณ์ และเพราะวิจิตรด้วยสัมปยุตตธรรม

    และประการสุดท้าย คือ ชื่อว่า จิต เพราะกระทำให้วิจิตร


    หมายเลข 6711
    25 ส.ค. 2558