ที่ชื่อว่าจิตเพราะอรรถว่าคิด อธิบายว่ารู้แจ้งอารมณ์
ข้อความในอัฏฐสาลินีว่า
ที่ชื่อว่า “จิต” เพราะอรรถว่า คิด อธิบายว่า รู้แจ้งอารมณ์
คำว่า “รู้” มีความหมายหลายอย่างตามลักษณะและประเภทของธรรมนั้น ๆ เช่น เจตสิกก็เป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ แต่ว่าไม่ได้เป็นใหญ่ในการรู้ เจตสิกแต่ละประเภทเกิดขึ้นพร้อมกับจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต แต่ว่ากระทำกิจเฉพาะของเจตสิกนั้น ๆ เช่น ผัสสเจตสิกที่ได้กล่าวถึงแล้ว เป็นสภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต พร้อมกับจิต แต่เป็นธรรมชาติที่กระทบอารมณ์ ถ้าไม่รู้อารมณ์ จะกระทบอารมณ์ได้ไหมคะ ไม่ได้หรือว่าถ้าไม่กระทบอารมณ์ จะรู้อารมณ์ได้ไหม ถ้าเจตสิกไม่กระทบอารมณ์ ก็รู้อารมณ์ไม่ได้
เพราะฉะนั้นผัสสเจตสิกรู้อารมณ์โดยกระทบอารมณ์ เพราะฉะนั้นผัสสเจตสิกก็รู้อารมณ์ด้วยนะคะ แต่ไม่ใช่รู้แจ้งอารมณ์
สำหรับปัญญาเจตสิก ก็เป็นสภาพธรรมที่รู้ถึงลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ นั่นเป็นลักษณะของปัญญาที่รู้ถูกต้องตามความเป็นจริง
แต่ว่าสำหรับจิตซึ่งเป็นสภาพรู้ ซึ่งมีคำอธิบายว่า รู้แจ้งอารมณ์ ไม่ใช่เป็นการรู้อย่างผัสสะที่กระทบอารมณ์ ไม่ใช่เป็นการรู้อย่างสัญญา ที่หมายรู้ลักษณะของอารมณ์ หรือจำอารมณ์ และไม่ใช่เป็นการรู้อย่างปัญญาที่รู้ถูกต้องตามความเป็นจริงว่า สิ่งที่ปรากฏเป็นอะไร แต่ว่าจิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งในลักษณะต่าง ๆ ของอารมณ์ที่ปรากฏ