เมื่อจิตรู้สี รู้เสียง แล้วจะต้องพิจารณาอย่างไรอีก


    ผู้ฟัง เสียงกระทบโสตปสาททำให้จิตรู้ ได้ยินเสียงนั้น รู้ว่าเป็นเสียง

    ท่านอาจารย์ มิได้ค่ะ คำว่าได้ยินเสียง คือ รู้ลักษณะของเสียงที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง กระทบกับผัสสะแล้ว จิตก็รู้

    ท่านอาจารย์ ได้ยิน

    ผู้ฟัง ในสติปัฏฐาน ๔ ก็ว่า จิตฺเต จิตฺตานุปสฺสี วิหารติ เธอย่อมพิจารณาจิตในจิตเนือง ๆ เมื่อจิตเรารู้แล้ว จะต้องพิจารณายังไงอีกครับ เมื่อจิตเรารู้เสียง รู้สี ตาเห็นสี หูได้ยินเสียง จิตเรารู้ ทีนี้เราจะพิจารณาอย่างไร จึงจะเป็นพิจารณาจิตในจิตอยู่เนือง ๆ

    ท่านอาจารย์ เวลานี้มีสภาพรู้ไหมคะ

    ผู้ฟัง ก็ต้องรู้ซิครับ

    ท่านอาจารย์ ขณะไหนคะ ต้องรู้ด้วยค่ะ ว่าเมื่อมีนั้น ขณะไหนคะ

    ผู้ฟัง ขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน

    ท่านอาจารย์ กำลังเห็นนะคะ กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ธรรมดาหลงลืมสติ แต่เวลาที่จะพิจารณาจิต ก็หมายความว่า ในขณะที่เห็น เป็นจิตที่เกิดขึ้นเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา เพราะฉะนั้นในขณะนี้ระลึกได้ที่จะรู้ว่า มีสภาพที่กำลังรู้ คือ เห็นสิ่งที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง อันนี้เราใช้สติหรือใช้ปัญญา

    ท่านอาจารย์ ใช้ไม่ได้ค่ะ สติเกิดจึงระลึก กระทำกิจของสติ ถ้าสติไม่เกิด ผัสสะก็กระทำกิจของสติไม่ได้ เพราะผัสสะเพียงกระทบกับอารมณ์ แต่สติเป็นสภาพธรรมที่เป็นโสภณ เมื่อมีการฟังเรื่องของนามธรรมและรูปธรรม เมื่อมีการฟังเรื่องของการเห็น การได้ยิน เป็นต้น ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลมีความจำที่มั่นคงที่ไม่ลืมในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ก็เป็นปัจจัยให้มีการระลึกในขณะที่กำลังเห็น แล้วค่อย ๆ รู้ขึ้นว่า เป็นสภาพรู้ที่กำลังเห็นนี้เป็นธาตุรู้ ไม่ใช่รูปธาตุ แต่เป็นนามธาตุ เป็นเพียงอาการรู้ หรือธาตุรู้ที่เห็นสิ่งที่ปรากฏ บ่อย ๆ เนือง ๆ นี่คือจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน

    เพราะฉะนั้นลักษณะต่าง ๆ ของจิต ประการต่อ ๆ ไป ก็คือ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานทั้งหมดที่สอดคล้องกัน ที่เมื่อพิจารณาแล้ว ก็จะตรงกับจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานหมวดต่าง ๆ ไม่พ้นจากการระลึกรู้ลักษณะของสภาพรู้ที่กำลังปรากฏ คือ กำลังเห็นในขณะนี้ กำลังได้ยินในขณะนี้ กำลังคิดนึกในขณะนี้


    หมายเลข 6725
    25 ส.ค. 2558