นึกได้พูดได้ว่ามีกุศลจิต มีอกุศลจิต แต่ความจริงคือขณะไหน
สำหรับอรรถ คือ ความหมายที่เป็นสภาพของจิตประการที่ ๒ ในจิตตุปปาทกัณฑ์ อัฏฐสาลินี อรรถกถา ธัมมสังคิณีปกรณ์ มีข้อความว่า
อีกอย่างหนึ่ง เพราะเหตุที่ศัพท์ว่า “จิตฺตํ” นี้ ทั่วไปแก่จิตทุกดวง ฉะนั้น ในคำว่า “จิตฺตํ” นี้ กุศลจิตฝ่ายโลกีย์ อกุศลจิตและมหากิริยาจิต จึงชื่อว่า “จิต” เพราะสั่งสมสันดานของตน ด้วยสามารถแห่งชวนวิถี
ในคราวก่อน ท่านผู้ฟังได้ทราบอรรถ คือ ความหมาย ที่เป็นลักษณะของจิตประการที่ ๑ คือ อธิบายว่า “รู้แจ้งอารมณ์” ซึ่งหมายความถึง รู้ลักษณะต่าง ๆ ของอาการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ที่ปรากฏทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ แต่ว่าจิตก็ไม่ได้มีแต่เห็น หรือได้ยิน หรือได้กลิ่น หรือลิ้มรส หรือรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ยังมีจิตที่เป็นกุศลและอกุศล
เพราะฉะนั้นความหมายประการที่ ๒ ก็คือ
ในคำว่า “จิตฺตํ” นี้ กุศลจิตฝ่ายโลกีย์ อกุศลจิต และมหากิริยาจิต จึงชื่อว่า “จิต” เพราะสั่งสมสันดานของตน
คำว่า “สันดาน” ในภาษาไทยนี้ มาจากคำว่า “สนฺตาน” ในภาษาบาลี หรือคำว่า “สนฺตติ” การเกิดดับสืบต่อกัน ซึ่งเวลาที่มีการเห็น มีการได้ยิน มีการได้กลิ่น มีการลิ้มรส มีการกระทบสัมผัส ขณะนั้นยังไม่ใช่กุศลจิต ยังไม่ใช่อกุศลจิต ยังไม่ได้สั่งสมสันดาน เพราะการเห็นก็ดี การได้ยินก็ดี การได้กลิ่นก็ดี จิตลิ้มรสก็ดี จิตที่กระทบสัมผัสก็ดี เป็นจิตที่เป็นวิบากจิต หมายความว่าเป็นผลของอดีตกรรม เวลาที่กรรมใดจะให้ผล หมายความว่าถึงพร้อมด้วยปัจจัยที่จะให้วิบากจิตเกิดขึ้น ทุกท่านจะต้องเห็นต่อไปอีกมากมายนานเหลือเกิน ทั้งในชาตินี้และในชาติต่อ ๆ ไป แต่ไม่ทราบว่าจะเห็นอะไรบ้าง ท่านยังจะต้องได้ยินอีกมากมาย ทั้งในชาตินี้และในชาติต่อไป จะต้องได้กลิ่น จะต้องลิ้มรส จะต้องรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทั้งในชาตินี้อีกนานและในชาติต่อ ๆ ไปด้วย แต่ไม่ทราบว่าขณะไหนจะเห็นอะไร เพราะเหตุว่ากรรมที่ได้กระทำแล้ว ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะกรรมเดียวในชาติเดียว ในสังสารวัฏฏ์ที่เนิ่นนาน แล้วแต่ว่ากรรมใดพร้อมด้วยเหตุปัจจัย ที่จะทำให้ผลของกรรม คือ วิบากจิตเกิดขึ้นเห็นอะไร ในขณะไหน ในชาติไหน
เพราะฉะนั้น ทั้ง ๆ ที่ทุกท่านทราบว่า ท่านจะต้องเห็นอีกนานตลอดชั่วชีวิตนี้ แต่ไม่ทราบว่าจะเห็นอะไรบ้างในชั่วชีวิตนี้ต่อจากขณะนี้ เพราะว่าแล้วแต่กรรมหนึ่งกรรมใดจะเป็นปัจจัยให้เห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ให้ทราบว่า กรรมนั้นสุกงอมพร้อมที่จะให้ผล คือ ประกอบด้วยปัจจัยต่าง ๆ จึงทำให้การเห็นเกิดขึ้นแต่ละขณะ ให้มีการได้ยินเกิดขึ้นแต่ละขณะ ให้มีการได้กลิ่นต่าง ๆ เกิดขึ้นแต่ละขณะ ให้มีการลิ้มรสต่าง ๆ เกิดขึ้นแต่ละขณะ ให้มีการกระทบเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว สุข ทุกข์ ทางกายแต่ละขณะ ซึ่งเป็นวิบากจิต และวิบากจิตเหล่านี้ไม่ได้สั่งสมสันดาน เพราะเหตุว่าเป็นเพียงวิบาก ซึ่งเป็นผลของกรรมที่เกิดขึ้น เพราะกรรมเป็นปัจจัย
เพราะฉะนั้น การที่จะเข้าใจความหมายซึ่งเป็นอรรถ ความหมายที่เป็นลักษณะของจิตประการที่ ๒ ที่ว่า
กุศลจิตฝ่ายโลกีย์ อกุศลจิตและมหากิริยาจิต จึงชื่อว่า “จิต” เพราะสั่งสมสันดานของตน ด้วยสามารถแห่งชวนวิถี
ก็จะต้องเข้าใจความหมายของวิถีจิตเสียก่อน ว่า วิถีจิต คือ จิตประเภทไหน เกิดขึ้นเมื่อไร รวมทั้งจะต้องเข้าใจความหมายของชวนวิถี ซึ่งเป็นขณะที่จิตสั่งสมสันดานของตน เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง หรือว่าสำหรับพระอรหันต์ก็เป็นมหากิริยาจิต ถึงแม้ว่าจะเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็เป็นพระอรหันต์ที่มีกาย วาจา ใจต่าง ๆ กัน เพราะสั่งสมสันดานของตน