อเหตุกจิต กับ อุปัตติเหตุ
จิตที่ไม่มีกำลังคือจิตที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย และขณะนี้ก็กำลังมีทั้ง ๒ อย่าง คือมีทั้งจิตที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยเลย และมีจิตที่มีเหตุเกิดร่วมด้วย
ขณะที่เห็น ขณะนี้ทุกคนมี ทำไมเห็น คนตาบอดก็มีซึ่งไม่เห็น ฉะนั้นทำไมเห็น กรรมที่ได้กระทำแล้วเป็นปัจจัยทำให้มีรูปร่างกายทั่วทั้งตัว และมีจักขุปสาทขณะที่เกิด เมื่อมีการเห็นขณะนี้ต้องมีจักขุปสาทเกิด ถ้าไม่มีจักขุปสาทเกิด การเห็นก็เกิดไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น เมื่อกรรมเป็นปัจจัยให้จักขุปสาทเกิดจึงสามารถที่จะกระทบกับสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอุปัตติเหตุ เป็นขันธ์ที่เกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย ไม่มีใครสามารถจะสร้างจิตสักขณะเดียวได้เลย ซึ่งจิตก็หลากหลาย และจิตแต่ละขณะก็เกิดเพราะเหตุปัจจัยต่างๆ กันทั้งนั้น
สำหรับจิตเห็นต้องเป็นอุปัตติเหตุ คือเป็นอุปัตติที่ทำให้เกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย คำว่า “ภพ” มีสองอย่าง "กรรมภพ" และ "อุปัตติภพ" กรรมภพได้แก่เจตนาเจตสิก ฉะนั้นเมื่อสำเร็จเป็นกรรมที่จะทำให้วิบากจิตเกิดขึ้น ขันธ์ที่เกิดเพราะกรรมภพ ขันธ์นั้นเป็นอุปัตติภพ ที่กำลังเห็นนี้เกิดขึ้นเพราะกรรม หลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้ามีปัจจัยให้เห็นเกิด เห็นก็ต้องเกิด และสำหรับกรรมที่ได้กระทำแล้วก็จะเป็นปัจจัยที่ทำให้ผลเกิดขึ้น จิตที่เป็นผลคือ วิบากจิต ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาเลยเมื่อกล่าวถึงวิบากคือ ผลของกรรม ต้องรู้ว่าคือจิต และ เจตสิก ซึ่งเกิดเพราะจิต เจตสิกซึ่งได้กระทำกรรม ไม่ว่าจะเป็นกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม เป็นปัจจัยให้จิตเห็นเกิดขึ้น เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏโดยเลือกไม่ได้ จิตเห็นเมื่อเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย กรรมทั้งหลายสามารถจะทำให้วิบากจิตเกิดขึ้นโดยไม่ต้องมีเหตุหนึ่งเหตุใดเกิดร่วมด้วยเลย ฉะนั้นวิบากจิตที่เป็นผลของกรรม ที่เห็นขณะนั้นเป็นอเหตุกจิต คือยังไม่มีเหตุใดๆ เกิดร่วมด้วย เพียงแต่ว่าถึงกาลที่กรรมใดจะให้ผลก็เป็นปัจจัยให้จิตที่เป็นภวังค์อยู่เรื่อยๆ สิ้นสุดกระแสภวังค์ โดยก่อนที่จะสิ้นสุดก็มีภวังคจลนะหนึ่งขณะ ต่อจากนั้นก็เป็นภวังคุปัจเฉทะ ซึ่งเป็นกระแสภวังค์สุดท้ายหรือจะชื่อว่าตัดกระแสของภวังค์ก็ได้ โดยกำลังของกรรมที่จะให้ผลทางตา
เมื่อภวังคุปัจเฉทะซึ่งเป็นวิบากจิตดับ ขณะต่อไปเป็นอะไร คงไม่ลืมเพราะว่าได้กล่าวมามากแล้ว เรื่องจิตที่เป็นวิถีจิตขณะแรก ถ้าเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่ใช่วิบาก เพราะว่าวิบากขณะนั้นเป็นภวังค์ที่ดับไปแล้ว และจิตต่อไปเป็นกิริยาจิตซึ่งเพียงแต่รู้ว่าอารมณ์กระทบ แต่ยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน ยังไม่ได้กลิ่น ยังไม่ลิ้มรส ยังไม่ได้กระทบสัมผัส จิตนี้ทำอาวัชชนกิจทางปัญจทวารจึงชื่อว่า “ปัญจทวาราวัชชนจิต” เป็นกิริยาจิต ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย ยังไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย
วิถีจิตที่เป็นจิตมีเหตุเกิดร่วมด้วยก็มี ที่เป็นจิตที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยก็มี แต่เป็นวิถีจิตเพราะเหตุว่าไม่ใช่ปฏิสนธิจิต ไม่ใช่ภวังคจิต ไม่ใช่จุติจิต แต่เป็นการรู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งคือขณะนี้นี่เอง เราเรียนธรรม คือ เรียนสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ให้เข้าใจว่าเป็นจิตแต่ละขณะซึ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลใดๆ ทั้งสิ้น และเป็นจิตประเภทต่างๆ โดยชาติ โดยภูมิ โดยเหตุ
สำหรับจิตขณะแรกที่เป็นวิถีจิตก็ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยเลย แต่เป็นกิริยาจิต เพราะฉะนั้นจะเรียกอีกชื่อหนึ่งได้ไหม คือ “อเหตุกกิริยาจิต” คือเรียกตามความเป็นจริง ไม่ใช่ว่าเมื่อบัญญัติอย่างนี้แล้วต้องไปจำไว้เฉยๆ แต่หมายความว่าเราสามารถที่จะเข้าใจว่าทำไมมีคำนี้ บัญญัติลักษณะของสภาพตามที่ขณะนั้นเป็นอย่างนั้น เพราะว่าเมื่อเป็นจิตที่เป็นวิถีจิตแรก และรู้อารมณ์ที่กระทบทวารจึงเป็นอาวัชชนะ โดยอาศัยทวารจึงเป็นทวาราวัชชนะ แล้วแต่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ถ้าเรียกรวมคือ ปัญจทวาราวัชชนะ เมื่อแยกเป็นขณะที่เห็นก็เป็น จักขุทวาราวัชชนะ ทางหูไม่ใช่สิ่งที่ปรากกฎทางตาที่กระทบ ขณะนั้นก็เป็น โสตทวาราวัชชนะ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ก่อนเห็น ก่อนได้ยิน ก่อนได้กลิ่น ก่อนลิ้มรส ก่อนรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เป็นอเหตุกจิต
เริ่มที่จะรู้จักอเหตุกจิตที่เป็นกิริยาจิต ๑ ขณะ และถ้าเป็นทางใจไม่ได้อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย เช่น ขณะที่คิด คิดขึ้นมา ขณะนั้นไม่ใช่ภวังค์ แต่เป็นวิถีจิตแรก เพราะว่าไม่ได้อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่อาศัยจิตที่ทำอาวัชชนกิจคือรู้อารมณ์ที่กระทบในขณะนั้น จึงเป็นมโนทวาราวัชชนจิต ทั้ง ๒ จิตนี้เป็นอเหตุกกิริยาจิต เมื่อพูดถึงอเหตุกกิริยาจิตทั้งหมดมี ๓ ดวง แต่สำหรับบุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่พระอรหันต์ ก็จะมีอเหตุกกิริยาจิตเพียง ๒ ดวงเท่านั้น คือปัญจทวาราวัชชนจิต กับมโนทวาราวัชชนนจิต อเหตุกกิริยาทั้งหมดมี ๓ ดวง แต่จะยังไม่พูดถึงประเภทสุดท้ายซึ่งเป็นของพระอรหันต์เท่านั้นที่เป็นอเหตุกกิริยา
ที่มา ...