กระแสของสราคจิต
ในคราวที่แล้วเป็นเรื่องของสราคจิต ซึ่งสราคจิตมีอยู่เป็นประจำทั้งวัน ถ้าท่านผู้ใดไม่ทราบว่าเป็นสิ่งที่สติควรจะระลึกรู้ ก็ไม่สามารถจะกั้นกระแสของสราคจิต หรือว่าโลภมูลจิตได้เลยสักขณะเดียว เพราะฉะนั้นอกุศลจิตที่เป็นโลภมลูจิต เป็นสราคจิตนี้ ก็จะไหลไปตามอารมณ์ที่เห็น ที่ได้ยิน ที่ได้กลิ่น ที่รู้รส ที่กระทบสัมผัส ที่คิดนึก หมักดองสะสมอยู่ในจิต ไม่ไปที่ไหนเลย
ทุกขณะทุกครั้งที่อกุศลจิตเกิดขึ้น โลภมูลจิตเกิดขึ้นแต่ละครั้ง ก็เก็บสะสมหมักดอง เพิ่มกำลังขึ้นที่จะเป็นปัจจัยให้โลภมูลจิตเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ในทันทีที่เห็น ที่ได้ยิน ที่ได้กลิ่น ที่ลิ้มรส ที่กระทบสิ่งที่สัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็งเป็นต้น หรือว่าเรื่องราวต่างๆ ที่คิดนึกทางใจ ไม่ทราบว่าอกุศลจิตมีมากมายในวันหนึ่งๆ แล้วมีลักษณะที่ทรงจำแนกออก ตามกิจการงานของประเภทของอกุศลธรรมนั้นๆ คราวก่อนได้กล่าวถึงอาสวะ ๔ ได้แก่ ความยินดีพอใจไหลไปตามรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ถึงแม้ว่าจะเป็นพระโสดาบันบุคคลแล้ว กามาสวะก็ยังไม่สิ้น ยังไม่ดับหมดเป็นสมุจเฉท เพราะฉะนั้นก็จะเห็นกำลังของกิเลส กำลังของอกุศลที่เกิดขึ้นแต่ละขณะ แล้วก็หมักดองสะสม เพิ่มพูนกำลังขึ้น ทำให้ไหลไปด้วยความยินดีพอใจอยู่เรื่อยๆ อาสวะ ๔ คือ กามาสวะ ภวาสวะ ทิฏฐาสวะ และอวิชชาสวะ ผู้ที่เป็นอริยบุคคลท่านพระโสดาบันละได้เพียงทิฏฐาสวะ ความเห็นผิดที่เคยยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตน การที่เคยสงสัยในลักษณะของนามของรูปในอริยสัจจธรรมไม่มีแก่ท่าน เป็นผู้ที่ไม่มีทิฏฐาสวะ แต่ไม่หมดกามาสวะ ก็จะเห็นได้ว่าเรื่องของความละเอียด ความหนาแน่น ความเหนียวแน่นของอกุศล ซึ่งถ้าไม่เจริญหนทางข้อประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องแล้ว ไม่สามารถที่จะละอกุศลต่างๆ เหล่านี้ได้เลย