พยาปาทกายคันถะ


    สำหรับคันถะที่ ๒ พยาปาทกายคันถะ ความไม่แช่มชื่น ความไม่พอใจ เพราะว่ามีผู้ทำความเสื่อมเสียให้กับตัวท่าน หรือว่ามีผู้ที่ทำความเสื่อมเสียให้กับผู้ที่เป็นที่รักของท่าน หรือว่ามีผู้ทำความเจริญให้กับผู้ไม่เป็นที่รักของท่าน

    ไม่ใช่เพียงแต่บุคคลอื่นจะทำสิ่งที่ไม่ดีเป็นความเสื่อมเสียให้กับตัวท่านเท่านั้น แต่ยังกว้างขวางครอบคลุมขยายไปถึงทั้งบุคคลซึ่งไม่เป็นที่รัก และบุคคลซึ่งเป็นที่รักด้วย เป็นต้นว่าถ้ามีใครทำความเสื่อมเสียให้กับบุคคลผู้เป็นที่รัก หรือว่าหมู่คณะก็ได้ ถ้าท่านคลุกคลีเป็นพวกพ้องกับหมู่คณะใด และท่านก็มีความรู้สึกว่ามีบุคคลอื่นจะทำความเสื่อมเสียให้กับพวกพ้อง หรือว่าบุคคลที่ท่านสนิทสนมคุ้นเคยด้วย จิตใจของท่านเป็นอย่างไร ไม่แช่มชื่นแล้ว หรือว่าตรงกันข้ามบุคคลผู้นั้นไม่เป็นที่รัก แต่ว่ามีบุคคลอื่นทำความเจริญให้กับบุคคลซึ่งไม่เป็นที่รักของท่าน ความไม่พอใจ ความไม่แช่มชื่นก็เกิดขึ้นได้ เป็นคันถะผูกไว้ไม่ให้ไปสู่มรรคมีองค์ ๘ หรือทำให้สติไม่ระลึกรู้ลักษณะของนาม และรูปตามความเป็นจริง

    แต่ถ้าท่านเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ ท่านจะต้องระลึกรู้ลักษณะของนาม และรูปทั้งปวงที่เกิดกับท่าน ถ้าเกิดความไม่แช่มชื่นขึ้นเพราะมีผู้อื่นทำความเสื่อมเสียให้กับท่าน ผู้ที่เจริญมรรคมีองค์ ๘ สติระลึกรู้สภาพของจิตใจในขณะนั้นเป็นจิตตานุปัสสนาได้ ทุกอย่างทุกวันที่เกิดขึ้นเป็นไปนั้น ก็เป็นเพราะการสะสมของแต่ละบุคคล ทำให้แต่ละบุคคลกระทำกายอย่างนั้น วาจาอย่างนั้น สติก็ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริง นี่เป็นจิตของผู้เจริญสติ

    มีหลายท่านไม่ชอบเลยที่จิตเป็นโทสมูลจิต ถือว่ามีความไม่แช่มชื่นเกิดขึ้น แล้วก็รู้ตัวด้วยว่าเป็นคนเจ้าโทสะ ขี้โกรธ สะสมมามากในเรื่องของความโกรธ พอเริ่มโกรธก็พยายามทันทีที่จะหาวิธีหนึ่งวิธีใดที่จะไม่ให้โกรธต่อไป ที่จะหยุดยั้งความโกรธนั้น แต่ปรากฏว่าไม่สำเร็จ แต่ท่านผู้นั้นก็เป็นผู้เจริญสติ มีความเข้าใจในเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน แต่ในขณะที่ความโกรธเกิดขึ้นจริงๆ สติยังไม่ทันที่จะระลึกรู้สภาพจิตใจที่ไม่แช่มชื่นในขณะนั้น เพราะเหตุว่าความโกรธความไม่แช่มชื่นของจิตนั้นยังมีกำลังมาก และผู้นั้นก็เพิ่งเริ่มเจริญสติ การหลงลืมสติก็มีมาก เพราะฉะนั้นความโกรธมีปัจจัยที่จะเกิดต่อไป ผู้นั้นก็พากเพียรที่จะหยุดยั้งความโกรธ ด้วยการที่ระลึกถึงอารมณ์ที่ทำให้จิตสงบ แต่ก็ไม่สามารถที่จะทำให้จิตสงบได้ ผู้นั้นก็ทราบว่าถึงแม้จะพยายามระลึกถึงสมถภาวนาที่จะทำให้จิตสงบ ทำให้ไม่โกรธ แต่ความโกรธก็ยังเกิดขึ้น และสติก็ไม่ระลึกรู้ความโกรธที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนั้น ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะเหตุว่า การเจริญสติยังน้อย แต่ให้ทราบว่าถึงอย่างไร ผู้ที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม สติจะต้องเกิดขึ้นระลึกรู้แม้สภาพความโกรธความไม่แช่มชื่นของจิตนั้นจะมีกำลังแรงกล้า เพราะเป็นผู้ที่สะสมมาในเรื่องของความโกรธอย่างแรงกล้า แต่ละบุคคลเป็นตัวของท่านจริงๆ ที่มีปัจจัยทำให้เกิดขึ้น แล้วสติก็ระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริง แล้วละการยึดถือว่าเป็นตัวตน


    หมายเลข 6770
    31 ก.ค. 2567