เวลาโกรธเกิดขึ้น อย่าหาวิธีระงับโทสะ ให้เจริญสติฯ ใช่หรือไม่


    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์อธิบายว่าในเวลาเกิดความโกรธหรือมีโทสะขึ้น อย่าไปหาวิธีการอย่างอื่นเลยที่จะระงับโทสะนั้น ก็ให้เจริญสติเถิด การเจริญสตินั้นถ้าจะเพียงแต่ระลึกว่า ลักษณะโกรธนี้ก็เป็นแต่เพียงธัมมารมณ์ซึ่งเกิดขึ้นทางใจ เท่านั้นพอไหม

    ท่านอาจารย์ สำหรับผู้ที่เข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน และเป็นผู้ที่รู้จิตของการเจริญสติ แต่ว่าจะห้ามใครก็ห้ามไม่ได้ ความรู้ความเข้าใจของแต่ละบุคคลก็มีหลายขั้น ถ้าบุคคลนั้นไม่เข้าใจเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานก็พยายามที่จะทำให้จิตสงบแทนที่จะให้เป็นอกุศลก็ให้จิตเป็นกุศล ก็มีเหตุปัจจัยที่ทำให้แต่ละบุคคล มีกาย มีวาจา มีความดำริมีการตรึกไปต่างๆ กัน ตามการสะสมของแต่ละบุคคล แล้วแต่ว่าอะไรจะเกิดกับผู้นั้น ก็ไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคล เป็นแต่เพียงนามธรรมที่สะสมมา ทำให้รูปธรรมเป็นอย่างนั้น กระทำกิจอย่างนั้น หรือว่านามธรรมชนิดนั้นเกิดขึ้น แต่สำหรับผู้ที่เข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐานนั้น ท่านก็มีกิจที่จะเจริญสติเนืองๆ บ่อยๆ เรื่อยไปตลอดชีวิต ตลอดชาตินี้ และชาติต่อไป จนกว่าจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม นี่เป็นกิจของผู้เจริญสติ แต่ว่าท่านจะเจริญสติได้มากน้อยสักเท่าไหร่ในวันหนึ่งๆ ก็ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร ทั้งๆ ที่เข้าใจเรื่องของการเจริญสติแล้ว แต่ว่าหลงลืมสติก็ยังมีมาก หรือว่าในขณะที่สติกำลังระลึกลักษณะของนามรูปเพียงชั่วครู่ความจดจ้องก็อาจจะแทรกมา หรือว่าการที่จะทำอย่างนั้นอย่างนี้ก็อาจจะเกิดขึ้นเพราะคิดว่าถ้าทำอย่างนั้นแล้วก็จะรู้อริยสัจจ์เร็วขึ้น ความเห็นผิดก็มีโอกาสที่จะแทรกเข้ามาบังได้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นผู้ที่จะมีความเข้าใจตรงถูกต้องจริงๆ ว่า การที่จะละอกุศลธรรม ความโกรธที่กำลังปรากฏอย่างแรงกล้านั้นได้เป็นสมุจเฉทมีหนทางเดียวคือ มรรคมีองค์ ๘ สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมในขณะนั้น วิธีอื่นไม่สามารถที่จะละกิเลสได้เป็นสมุจเฉท แต่ถ้ายังขวนขวายหาช่องทางอื่นอยู่ ในขณะนั้นก็เป็นตัวตน เป็นสักกายทิฏฐิ ไม่ใช่เป็นการเจริญสติ ถ้าเป็นการเจริญสติแล้วสติระลึกตรงลักษณะของนาม และรูปที่กำลังปรากฏในขณะนั้น กว่าปัญญาจะประจักษ์แน่นอนมั่นคงว่า ไม่มีอะไรเลยที่จะละกิเลสได้เป็นสมุจเฉทนอกจากสติระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏเท่านั้น แม้ว่าในขณะนั้นจะระลึกแต่ยังไม่รู้ชัด แต่การระลึกนิดเดียวนั้นบ่อยๆ ก็จะทำให้การรู้ชัดเร็วขึ้น แทนที่จะไม่ระลึกแล้วใช้วิธีอื่น ในขณะที่กำลังระลึกรู้ลักษณะของจิตที่หยาบกระด้างคือความโกรธ ก็รู้ว่าลักษณะนั้นเป็นสภาพนามธรรมไม่ใช่รูปธรรม ทีแรกก็อาจจะเกิดความคิดแทรกซ้อนขึ้นมาว่าที่กำลังโกรธนั้นเป็นนามธรรม แต่ว่าผู้ที่เจริญสติก็ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด สำเหนียกรู้ว่า ความคิดไม่ใช่สภาพของความหยาบกระด้างของจิต คนละลักษณะ การเจริญสติจึงต้องเจริญมากๆ ไม่ใช่เจริญนิดเดียว เพราะว่าความคิดกับลักษณะที่หยาบกระด้าง ก็จะต้องแยก และรู้ชัดว่าไม่ใช่ธรรมประเภทเดียวกัน ความคิดก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ความอยากกระด้างของจิตก็เป็นนามธรรมอีกชนิดหนึ่ง แล้วสติก็ระลึกรู้ลักษณะของนามของรูป ซึ่งเป็นปกติขณะไหนก็ได้ เมื่อไหร่ก็ได้ ขอให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมในขณะนั้น เพื่อวันหนึ่งปัญญาจะได้รู้ชัด ถ้าไม่ระลึกขณะนิดขณะหน่อย ปัญญาก็รู้ชัดไม่ได้ เพราะฉะนั้น ขอให้สติระลึกลักษณะของนาม และรูป แม้แต่เพียงชั่วขณะเล็กๆ น้อยๆ ทุกๆ วัน


    หมายเลข 6783
    30 ก.ค. 2567