ศัพท์ว่า จิตตัง นี้ทั่วไปแก่จิตทุกดวง
ประการต่อไป
อีกอย่างหนึ่ง เพราะเหตุที่ศัพท์ว่า “จิตฺตํ” นี้ทั่วไปแก่จิตทุกดวง ฉะนั้น ในคำว่า “จิตฺตํ” นี้ กุศลจิตฝ่ายโลกีย์ อกุศลจิตและมหากิริยาจิต จึงชื่อว่า “จิต” เพราะสั่งสมสันดานของตน ด้วยสามารถแห่งชวนวิถี
นี่ก็จะต้องเป็นการศึกษาที่ละเอียดขึ้น จึงจะเข้าใจความหมายของคำว่า “ชวนวิถี” และความหมายอื่น เช่น กุศลจิตฝ่ายโลกีย์ แต่ว่าให้ทราบว่า ลักษณะของจิตเป็นสภาพที่เกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็ว ไม่มีใครสามารถที่จะเก็บไว้ ยื้อแย่งไว้ว่า ไม่ให้ดับ ขณะนี้จิตกำลังเกิดขึ้นและดับไป ๆ ๆ อย่างรวดเร็ว
แต่ว่าเพราะเหตุว่า ศัพท์ว่า “จิตฺตํ” นี้ทั่วไปแก่จิตทุกดวง ฉะนั้น ในคำว่า “จิตฺตํ” นี้ กุศลจิตฝ่ายโลกีย์ อกุศลจิตและมหากิริยาจิต จึงชื่อว่า “จิต” เพราะสั่งสมสันดานของตน
เพราะฉะนั้นก็จะได้รู้ลักษณะประการต่อไปของจิตที่เกิดดับ เกิดดับ เกิดดับ สืบต่อกันอย่างรวดเร็วนี้ว่า ทุกอย่างที่เกิดขึ้นไม่ได้สูญหายไปไหนเลย สะสมสืบต่ออยู่ในจิตแต่ละขณะ ซึ่งเกิดดับติดต่อกัน เมื่อจิตเกิดขึ้นมีปัจจัย เช่น อารมณ์ เป็นอารัมมณปัจจัย ให้จิตเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา มีปัจจัย คือ อารัมมณปัจจัย คือ เสียง ให้จิตได้ยินเสียงที่ปรากฏทางหู เป็นต้น แต่ว่าปกติแล้วไม่มีการที่จะสังเกตรู้ลักษณะของจิตที่เห็น หรือลักษณะของจิตที่ได้ยิน มีใครสังเกตบ่อย ๆ เนือง ๆ หรือเปล่าคะ ในขณะนี้ที่กำลังเห็นว่า เป็นสภาพรู้สิ่งที่ปรากฏต่าง ๆ แต่มักจะรู้เวลาที่จิตเป็นกุศลหรืออกุศล ขณะนั้นก็พอจะบอกได้ใช่ไหมคะว่า จิตเศร้าหมองขุ่นมัวเป็นอกุศล หรือว่าผ่องใสเป็นกุศล ปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ เป็นจิตที่ประกอบด้วยเมตตา มีการสงเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลอื่น มีความรู้สึกเป็นมิตรไมตรีกับคนอื่น ในขณะนั้นให้ทราบว่า จิตแต่ละขณะที่เกิดดับอย่างรวดเร็ว สั่งสมสันดานของตน คือ ไม่ว่าจะเป็นกุศล อกุศล แต่ละขณะที่เกิดขึ้น ไม่สูญหายไปไหน แต่ว่าสะสมอยู่ในจิตดวงต่อ ๆ ไป เพราะเหตุว่าเมื่อจิตเกิดขึ้นดวงหนึ่งดับไปอย่างรวดเร็วแล้ว เป็นปัจจัยให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้นสืบต่อทันที เพราะฉะนั้นจิตดวงต่อไป ซึ่งจิตดวงก่อนที่ดับไปเป็นปัจจัย จึงมีสภาพธรรมซึ่งจิตดวงก่อนมีสะสมสืบต่ออยู่ในจิตดวงต่อไปเรื่อย ๆ