ลักษณะของจิตประการที่ ๒
สำหรับลักษณะของจิตประการที่ ๒ ซึ่งข้อความในอัฏฐสาลินี มีว่า
อีกอย่างหนึ่ง เพราะเหตุที่ศัพท์ว่า “จิตฺตํ” นี้ทั่วไปแก่จิตทุกดวง
สภาพรู้ทั้งหมดที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะขณะนอนหลับ ขณะที่ตื่น ขณะที่เห็น ขณะที่คิดต่าง ๆ
ฉะนั้น ในคำว่า จิตฺตํ นี้ กุศลจิตฝ่ายโลกีย์ อกุศลจิต และมหากิริยาจิต จึงชื่อว่า “จิต” เพราะสั่งสมสันดานของตน ด้วยสามารถแห่งชวนวิถี
ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องยากนะคะ แต่ว่าเป็นเรื่องจริงในชีวิตประจำวัน ส่วนมากทุกท่านก็ได้ยินคำว่า “กุศลจิต” และ “อกุศลจิต” อยู่เสมอ แต่ขอให้ทราบว่า จิตทั้งหมด ไม่ว่าจะมีประเภทต่าง ๆ ประการใดก็ตาม โดยการเกิด คือ โดยชาติ หรือ ชา – ติ มี ๔ ประเภท คือเป็นกุศลจิต ๑ เป็นอกุศลจิต ๑ เป็นวิบากจิต ๑ เป็นกิริยาจิต ๑
นี่ใช้เสียงภาษาไทย ซึ่งถ้าเป็นภาษาบาลี ก็ต้องใช้ กุ ศะ ละ จิตตะ หรือจิตตัง ก็แล้วแต่ แล้วก็อะ กุ ศะ ละวิ ปา กะ เพราะเหตุว่าบาลีไม่ใช้ตัว บ เป็นวิปากะ และกิริยาจิต
เพราะฉะนั้นส่วนใหญ่ท่านผู้ฟังจะคุ้นเคยกับคำว่า “กุศลจิต” และ “อกุศลจิต” แต่ยังไม่คุ้นกับคำว่า “วิบากจิต” กับ “กิริยาจิต”