การปฏิบัติวิปัสสนาทำยังไง


    วันนี้ท่านผู้ฟังมีข้อสงสัยอะไรบ้างหรือเปล่าคะ ในเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน และในเรื่องปรมัตถธรรม ถ้าไม่มีนะคะ ขอกล่าวถึงคราวก่อน มีท่านผู้ฟังจากต่างจังหวัด ถามว่า การปฏิบัติวิปัสสนาจะทำอย่างไร

    ซึ่งแม้ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน คงจะไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดไปกราบทูลถามว่า การปฏิบัติวิปัสสนาทำอย่างไร แต่ว่าไปฟังธรรม เพื่อที่จะได้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่เคยเข้าใจ แล้วก็ไม่ได้เคยฟัง ไม่ได้เคยศึกษามาก่อน ให้เข้าใจยิ่งขึ้น

    เพราะฉะนั้นในเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา ไมใช่เรื่องการคิดจะทำ โดยที่ไม่เข้าใจอะไรเลย แต่การที่จะปฏิบัติธรรมได้ถูกต้อง หมายความว่า มีความรู้มีความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมเสียก่อน แล้วจึงจะรู้ว่า ขณะใดเป็นการปฏิบัติธรรม แต่ไม่ใช่เป็นการที่โดยไม่เข้าใจอะไรเลย ก็คิดว่าจะทำวิปัสสนา หรือว่าการทำวิปัสสนานั้น จะทำอย่างไร

    ถ้าไม่มีความเข้าใจอะไรเลย ใครจะทำวิปัสสนาได้ จะทำอย่างไรคะ ที่จะให้เป็นวิปัสสนา ที่จะทำให้เกิดความรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้นก็จะต้องเริ่มต้นจากการฟัง จนกระทั่งเข้าใจจริง ๆ ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพื่อที่จะได้ระลึกรู้ ศึกษา น้อมพิจารณา จนกว่าจะเข้าใจชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ทางตาในขณะนี้ ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตามปกติตามความเป็นจริง

    ขณะใดที่สติระลึกและศึกษา น้อมพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นมีความเข้าใจถูกต้องว่า การที่ปัญญาจะรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมได้ ก็เพราะระลึกได้จึงศึกษาพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่จะต้องมีความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเสียก่อน แล้วจึงจะเป็นปัจจัยให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเลย แล้วจะทำวิปัสสนา ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้เลย และบางท่านเวลาที่ฟังเรื่องลักษณะต่าง ๆ ของจิต ตามที่ได้กล่าวไปแล้ว ท่านก็คิดว่า ในขณะนั้นท่านกำลังฟังปริยัติธรรม แยกกันว่าปริยัติเป็นส่วนหนึ่ง และปฏิบัติเป็นอีกส่วนหนึ่ง แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ที่เข้าใจว่าเป็นปริยัติ คือ กำลังฟังเรื่องลักษณะประการต่าง ๆ ไม่ใช่หมายความว่า ไม่ให้รู้ลักษณะของจิตที่กำลังเห็นในขณะที่กำลังฟัง หรือว่าลักษณะของจิตที่กำลังได้ยินในขณะที่กำลังฟัง ลักษณะของจิตที่คิดนึกในขณะที่กำลังฟัง แต่ในขณะที่กำลังฟังเดี๋ยวนี้ มีทั้งจิตเห็น ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ที่กำลังได้ยินนี้ ก็เป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นรู้เสียง แล้วก็มีสภาพธรรมที่กำลังคิดนึกถึงเรื่องราวต่าง ๆ ตามเสียงต่าง ๆ ที่ได้ยิน

    เพราะฉะนั้นก็เป็นสภาพธรรมทั้งหมด เป็นปริยัติธรรม และเป็นปฏิบัติธรรมด้วย ถ้าขณะที่กำลังฟังนี้ สติเกิดระลึกพิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นปริยัติและปฏิบัติไม่ได้แยกกัน ไม่ใช่ว่าเวลาที่กำลังศึกษาธรรมเป็นส่วนหนึ่งต่างหาก แล้วก็จะไปทำวิปัสสนา ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ในขณะที่กำลังฟังเข้าใจ สติอาจจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังฟัง และกำลังปรากฏทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้างขณะใด ขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นธรรมซึ่งเป็นมรรคมีองค์ ๘ เกิดขึ้นปฏิบัติกิจของธรรมนั้น ๆ เช่น “สติ” ซึ่งเป็นองค์หนึ่งของมรรคมีองค์ ๘ เกิดขึ้น ระลึกได้ที่จะพิจารณาในขณะที่กำลังเห็น ในขณะที่กำลังฟังในขณะนี้เอง แล้วแต่ว่าสติจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพของจิตที่เห็นแจ้งในลักษณะอาการต่าง ๆ ของอารมณ์ที่ปรากฏทางตา หรือว่าเกิดได้ยินเสียงหนึ่งเสียงใดขึ้น สติก็อาจจะเกิดขึ้น เพราะในขณะนั้นรู้ว่า สติเป็นสภาพที่รู้แจ้งในลักษณะของเสียงต่าง ๆ ที่ปรากฏทางหู ขณะนี้มีเสียงปรากฏแน่นอน เสียงต่าง ๆ พอที่จะรู้ว่า เป็นเสียงพัดลมก็มี เสียงเด็กวิ่งเล่นก็มี นั่นเป็นเสียงต่าง ๆ เป็นลักษณะอาการต่าง ๆ ที่จิตรู้แจ้งในลักษณะอาการต่าง ๆ ของเสียงต่าง ๆ ที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจในอรรถในลักษณะของจิต ซึ่งเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ต่าง ๆ เวลาที่อารมณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้น สติสามารถที่จะมีปัจจัยเกิดขึ้นระลึกได้ทันทีว่า เป็นจิตที่กำลังรู้แจ้งในลักษณะต่าง ๆ ของอารมณ์ต่าง ๆ ในขณะที่กำลังฟังในขณะนี้

    เพราะฉะนั้นก็ไม่ควรที่จะคิดว่า ปริยัติและปฏิบัติแยกกัน


    หมายเลข 6824
    25 ส.ค. 2558