ปัญจทวาราวัชชนจิต
เวลาที่ภวังคุปัจเฉทจิตดับไปแล้ว เป็นปัจจัยให้วิถีจิตเกิดต่อ จิตใดก็ตามที่ไม่ใช่ปฏิสนธิจิต ไม่ใช่ภวังคจิต ไม่ใช่จุติจิตแล้วเป็นวิถีจิต จิตทุกดวงมีงานทำ จิตทุกดวงที่เกิดขึ้นทำกิจการงานตามเหตุตามปัจจัย แล้วก็ดับไป แต่เวลาที่ภวังคุปัจเฉทะดับไปแล้ว วิถีจิตดวงแรกที่เกิดจาก “ภวังคุปัจเฉทะ” กระทำ “อาวัชชนกิจ” เป็นภาษาบาลีนะคะ “อาวัชชนกิจ” ภาษาไทย หมายถึง ถ้าแปลโดยศัพท์ รำพึงถึงอารมณ์ที่กระทบทวาร ถ้าเป็นทางปัญจทวาร คือ ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกายจิตที่ทำอาวัชชนกิจ เป็น “ปัญจทวาราวัชชนจิต” เป็นจิตดวงหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นทางหนึ่งทางใดใน ๕ ทาง กระทำอาวัชชนกิจ คือ รำพึง หรือนึกถึงอารมณ์ที่ปรากฏที่ทวาร ยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน ยังไม่ได้กลิ่น ยังไม่ได้ลิ้มรส ถึงแม้ว่ารสกระทบกับชิวหาปสาท แต่ยังไม่ได้ลิ้ม เพราะเมื่อเกิดกระทบกับชิวหาปสาท กระทบกับภวังค์ เป็น “อตีตภวังค์” ดับไป เป็น “ภวังคจลนะ”ดับไป เป็น “ภวังคุปัจเฉทะ” ดับไป แล้ว “ปัญจทวาราวัชชนจิต” เกิดขึ้นรำพึง คือ คิดถึงอารมณ์ที่กระทบที่ทวาร แล้วแต่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย จิตดวงนี้เกิดขึ้น คิดถึงอารมณ์ที่กระทบทวาร เพราะจิตที่สามารถที่จะรู้อารมณ์ที่กระทบทวารหนึ่งทวารใดใน ๕ ทวาร ได้ทั้ง ๕ ทวาร จึงชื่อว่า “ปัญจทวาราวัชชนจิต” เป็นจิตดวงหนึ่งเกิดขึ้นกระทำกิจนี้
เหมือนคนที่รู้ว่าแขกมา แต่ยังไม่เห็นแขก ใช่ไหมคะ เพียงแต่รู้ว่า มีแขกมา แต่ยังไม่รู้ว่าใคร ยังไม่เห็น เพราะฉะนั้นทุกท่านมีแขกมาเสมอ ใช่ไหมคะ เวลานี้มีแขกมาหาหรือเปล่าคะ ไม่มีหรือคะ แขกมาหรือยังคะ มาหรือไม่มา ทางตานี้ สีสันวัณณะเป็นแขก เราอาจจะคิดถึงคนใช่ไหมคะ ว่าวันนี้แขกมา แต่ว่าทางตาที่เห็น สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นแขก ทางหูที่ได้ยิน เสียงเป็นแขกเมื่อกี้ก็ไม่ได้มา อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ แต่ในขณะที่ได้ยินเสียง เสียงเป็นแขก จิตเกิดขึ้นรู้แขกที่มาหาว่าเป็นเสียง เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏทางหู
เพราะฉะนั้นโดยสมมติบัญญัติ คนมาหา แขกมาหา โดยปรมัตถ์ รูปมาหา เสียงมาหา กลิ่นมาหา รสมาหา เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว มาหาทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย