เหตุใดวิถีจิตจึงมี ๔ วาระ
ผู้ฟัง ก็วิถีจิตทั้งหมดมี ๔ วาระ มีตั้งแต่ตทาลัมพณวาระ ชวนวาระ โวฏฐัพพนวาระ โมฆวาระ ด้วยเหตุอะไรจึงต้องมีตั้ง ๔ วาระ มันเป็นไปได้อย่างไร
ท่านอาจารย์ ท่านผู้ฟังถามต่อไปถึงวาระ คือ การเกิดของวิถีจิตในการรู้อารมณ์แต่ละอารมณ์ ซึ่งในบางวาระ วิถีจิตก็เกิดทั้ง ๗ วิถี และในบางวาระวิถีจิตก็เกิด ๖ วิถี และในบางวาระวิถีจิตก็เกิด ๕ วิถี และในบางวาระวิถีจิตก็ไม่เกิดเลย มีแต่อตีตภวังค์ ภวังคจลนะเท่านั้น เพราะเหตุว่าเวลาที่รูปกระทบกับปสาท เป็นอตีตภวังค์ กระทบอีก เป็นอตีตภวังค์อีก ยังไม่มีภวังคจลนะ ยังไม่ไหวที่จะรับรู้อารมณ์ที่กระทบ หรือว่าบางครั้งเวลาที่กระทบกับปสาทแล้ว กระทบกับอตีตภวังค์ แล้วก็เป็นปัจจัยให้ภวังค์ไหวที่จะรับรู้อารมณ์ใหม่ แต่ก็สายไปเสียแล้ว เพราะเหตุว่ารูปนั้นก็ดับไป เพราะเวลาที่กระทบ เวลาที่ไหวหลายขณะ ไม่มีกำลังที่จะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ในขณะนั้น คนที่นอนหลับสนิท เขย่าแล้วก็ยังไม่ตื่น เขย่าแรง ๆ ก็ยังไม่ตื่นอีก เพราะอะไรคะ อาวัชชนจิตไม่เกิด มีอตีตภวังค์ และภวังคจลนะ เพราะฉะนั้นเป็นโมฆวาระ เพราะเหตุว่าวิถีจิตไม่ได้เกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่กระทบ นั่นชื่อว่า “โมฆวาระ” เพราะเหตุว่าวิถีจิตไม่เกิด
และบางวิถี เวลาที่อตีตภวังค์เกิดแล้ว ภวังคจลนะเกิดแล้ว ภวังคุปัจเฉทะเกิดแล้ว ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดแล้ว ปัญจวิญญาณจิตดวงใดดวงหนึ่งเกิดแล้ว สัมปฏิจฉันนจิตเกิดแล้ว สันตีรณจิตเกิดแล้ว โวฏฐัพพนจิตเกิดแล้ว ชวนจิตไม่เกิด เพราะอะไรคะ เพราะรูปดับไปเสียก่อน นั่นชื่อว่า “โวฏฐัพพนวาระ”
ดีไหมคะ ไม่ทันให้ชวนวิถีจิตชอบ ชอบไหมคะ ไม่ได้บุญ แสดงว่ามีบุญที่จะเกิดเสมอ ๆ หรือคะ
นี่เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณานะคะ ว่าสภาพธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริงเป็นอย่างนี้ ไม่ได้หมายความว่า เวลาที่อารมณ์กระทบปสาทแต่ละครั้งแล้ว วิถีจิตจะต้องเกิดตลอดไปทั้ง ๗ วิถี แล้วแต่ว่าบางวิถีเป็นโมฆวาระ วิถีจิตไม่เกิดเลย บางวิถีก็เป็น “โวฏฐัพพนวาระ” คือ เมื่อโวฏฐัพพนจิตเกิดแล้วดับไป อารมณ์ก็ดับไป ชวนจิตไม่เกิด
บางวิถีชวนจิตเกิดแล้วดับไป ๆ ๆ ๆ ๗ ครั้ง อารมณ์ก็ดับ เพราะฉะนั้น ตทาลัมมณวิถีจิตก็เกิดไม่ได้ การรู้อารมณ์ของจิตในวาระนั้น จึงมีวิถีจิตเพียง ๖ วิถี คือ ถึงชวนวิถีเท่านั้น แล้วรูปก็ดับไป เพราะฉะนั้นการรู้อารมณ์ในวาระนั้นจึงเป็น “ชวนวาระ”
และในบางวาระเวลาที่ชวนจิตเกิดดับ ๗ ครั้งแล้ว อารมณ์ยังไม่ดับไป นั่นเป็นปัจจัยให้ตทาลัมพนวิถีจิตเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นการรู้อารมณ์ของวิถีจิตในวาระนั้น จึงเป็น “ตทาลัมพนวาระ”