ทำไมภวังค์หลังปฏิสนธิจิตจึงมีชื่อต่างกันไป
ผู้ฟัง ภวังค์ที่หลังจากปฏิสนธิ ทำไมจึงมีชื่อแตกต่างจากภวังค์ที่อยู่ในชีวิตประจำวันที่มากระทบ เช่น อตีตภวังค์ ภวังคจลนะ ภวังคุปัจเฉทะ
ท่านอาจารย์ ปฐมภวังค์ ถ้ากล่าวโดยชื่อหมายความถึงภวังค์ซึ่งเกิดต่อจากปฏิสนธิ หลังจากนั้นไม่ต้องนับแล้ว กระแสน้ำนี่จะไปนั่งนับอย่างไร กับกระแสภวังค์ แต่ที่มีคำว่าอตีตภวังค์ก็เพื่อแสดงให้รู้ว่ารูปกระทบทวาร และรูปมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้นเกินจากนั้นรูปไม่ดับไม่ได้ รูปต้องดับ เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่าอายุของรูปๆ หนึ่งที่เกิดจะดับเมื่อไหร่ ทั้งปสาทรูป และสิ่งที่กระทบปสาทรูป นั่นคืออตีตภวังค์ ภวังคจลนะก็หมายความว่า จะมีภวังคุปัจเฉทะทันทีไม่ได้ กระแสภวังค์อยู่ดีๆ ก็จะสิ้นสุดไปเลยไม่ได้ ในเมื่อเป็นกระแสภวังค์ดำรงอยู่ จะมีอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดกระทบ เมื่อกระทบแล้วก็เป็นปัจจัยที่จะทำให้ภวังค์ไหว เพื่อที่จะสิ้นสุดกระแสภวังค์ เมื่อกล่าวถึงภวังค์ไหวก็นึกถึงรูปไหว ก็ไม่ได้อีก เพียงแต่ใช้คำว่าใกล้ที่จะสิ้นสุด แต่ยังไม่ใช่สุดท้าย เพราะฉะนั้นจิตที่เกิดก่อนภวังค์สุดท้าย ก็คือภวังคจลนะ และเมื่อภวังคุปัจเฉทะเกิดแล้วดับไป วิถีจิตต้องเกิด เพราะฉะนั้นเราจึงต้องเข้าใจ ๓ ชื่อนี้
ที่มา ...