ฟังแล้วรู้หรือไม่ว่าทำกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมมามากน้อยแค่ไหน


    อ.กุลวิไล เพราะฉะนั้นทั้งหมดนี้ก็คือสภาพธรรมที่มีในชีวิตประจำวัน ดูเหมือนเราฟังเรื่องราวของพระธรรมที่ทรงแสดง แต่ก็คือสภาพธรรมที่ส่องให้เราเห็นชีวิตประจำวันว่าสิ่งที่ท่านทรงแสดงนั้นเป็นสิ่งที่มีจริง และเราก็พิจารณาได้ เพื่อคลายความยึดถือสภาพธรรมที่เกิดขึ้นว่าเป็นสัตว์ ตัวตน บุคคล เพราะฉะนั้นเป็นเพียงแต่จิต เจตสิก แล้วก็รูปที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

    ท่านอาจารย์ เมื่อได้ฟังเช่นนี้แล้ว พอจะรู้ได้ไหมว่าเราได้ทำกรรมที่เป็นกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมมามากน้อยแค่ไหน ทราบหรือไม่ หรือยังไม่ทราบ ทราบได้จากอะไร วิบากจิต ไม่ว่าจะเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็จะรู้ได้เลยว่าอะไรเกิดบ่อยที่เป็นกุศลวิบาก หรือที่เป็นอกุศลวิบาก เพราะฉะนั้นก็ส่องถึงกรรมที่ได้กระทำแล้ว ซึ่งไม่มีใครเลยนอกจากจิตแต่ละขณะซึ่งเกิดดับสืบต่อเมื่อเป็นเหตุสุกงอมพร้อมให้ผลเมื่อไหร่ วิบากจิตก็เกิดขึ้นเมื่อนั้น ซึ่งทั้งเหตุ และผลก็ไม่ใช่เรา คือธรรมเป็นเรื่องคิดไตร่ตรอง และก็มีเหตุผล ถ้ามีความเข้าใจเราจะไม่ลืมเลย แต่ว่าถ้าเพียงแต่เราจำเพียงชื่อรู้ว่ามีอะไรบ้าง แต่ไม่มีเหตุผลเพียงพอ เราก็ลืมได้ เพราะฉะนั้นเราก็เคยได้ยินคำว่ามโน มนัส หทย เหล่านี้เป็นชื่อของจิต และจิตก็เป็นธาตุด้วย แต่ ณ บัดนี้มีคำว่ามโนธาตุด้วย เพราะฉะนั้นหมายความถึงจิตแน่นอน แต่ถามว่ารวมเจตสิกด้วยหรือไม่ รวมไม่ได้เพราะเหตุว่ามโนธา-ตุ แยกออกมาแล้วว่ามโนธาตุ

    แต่ถ้ากล่าวถึงจิตตุปาท หมายถึง การเกิดของจิตรวมเจตสิก เพราะว่าจิตจะเกิดโดยไม่มีเจตสิกไม่ได้ ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่เวลาที่ใช้คำว่ามโนธาตุเป็นการจำแนกธาตุรู้ ว่ามีต่างกันอย่างไร เพราะเหตุว่าจิตมีหลากหลายมากมายหลายประเภท เพราะฉะนั้น ตามที่ทรงแสดงประมวลไว้ ก็ประมวลเรื่องของธาตุที่เป็นจิตไว้ ๗ ประเภท วิญญาณธาตุที่ ๑ คือจักขุวิญญาณธาตุ อันนี้เป็นธาตุที่เป็นนามธรรมจะเกิดโดยอย่างอื่นไม่ได้เลย ต้องอาศัยจักขุปสาทเป็นทวารหรือเป็นที่เกิดเท่านั้น จิตนี้จึงเกิดได้ ไม่ได้อาศัยหทยเหมือนจิตอื่นด้วย สำหรับจิตอื่น เช่น ปฏิสนธิจิตก็เกิดที่หทยวัตถุ จิตอื่นทั้งหมดเว้นจิต ๑๐ ดวง คือทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ได้แก่จักขุวิญญาณ ๒ กุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑ เกิดที่จักขุปสาทรูป ไม่ได้อาศัยรูปอื่น

    นี่คือความพิเศษ ความต่างหากของธาตุชนิดนี้ ซึ่งเกิดที่จักขุปสาทรูปเป็นวัตถุ เป็นที่เกิด สำหรับโสตวิญญาณธาตุก็เป็นอีกชนิดหนึ่ง ไม่ใช่จักขุวิญญาณ ต่างกันเลย โสตวิญญาณทำกิจได้ยิน ทำกิจอื่นไม่ได้เลย ขณะนี้ที่กำลังได้ยิน ขณะนั้นก็เป็นธาตุที่เป็นโสตวิญญาณธาตุมี ๒ แต่ถ้ากล่าวโดยประเภทก็คือ วิญญาณธาตุ ๗ คือ จิตนี้จำแนกออกเป็นธาตุ ๗ ประเภท คือ จักขุวิญญาณธาตุ ๑ โสตวิญญาณธาตุ ๑ ฆานวิญญาณธาตุ ๑ ชิวหาวิญญาณธาตุ ๑ กายวิญญาณธาตุ ๑ เป็น ๕ ประเภทแล้ว ส่วนมโนธาตุ ๓ ที่เหลือ เป็นมโนวิญญาณธาตุ คือจิตที่เหลือทั้งหมด เพราะเหตุว่ามโนธาตุ ๓ ได้แก่ จิตที่เกิดที่หทยวัตถุ แต่สามารถที่จะรู้อารมณ์ได้ ๕ ทาง เพราะฉะนั้นปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดที่หทยวัตถุ สามารถที่จะรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา เสียงที่ปรากฏทางหู กลิ่นที่ปรากฏทางจมูก รสที่ปรากฏทางลิ้น เย็นร้อน อ่อนแข็ง ตึงไหว ที่ปรากฏทางกาย เมื่อจักขุวิญญาณดับจิตอื่นเกิดไม่ได้เลย นอกจากสัมปฏิจฉันนจิต ถ้าจักขุวิญญาณเป็นกุศลวิบาก สัมปฏิจฉันนะเป็นกุศลวิบาก ถ้าจักขุวิญญาณเป็นอกุศลวิบาก สัมปฏิจฉันนะเป็นอกุศลวิบาก เป็นผลของกรรมเดียวกัน รู้รูปเดียวกันที่ยังไม่ดับ ถ้าเป็นรูปที่เป็นอนิฏฐารมณ์ จะเปลี่ยนรูปให้เป็นอิฏฐารมณ์ก็ไม่ได้ใช่ไหม

    เพราะฉะนั้น สัมปฏิจฉันนะก็สามารถที่จะรู้อารมณ์ได้ทางทวารทั้ง ๕ เป็นมโนธาตุ ๓ คือปัญจทวาราวัชชนจิตรู้อารมณ์ได้ ๕ ทาง สัมปฏิจฉันนจิตอีก ๒ รวมเป็น ๓ จิต ๓ ดวงนี้เป็นมโนธาตุ ส่วนจิตอื่นก็สามารถที่จะรู้อารมณ์ได้ทางมโนทวาร ก็ครบจิต ๘๙ ประเภท

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 68


    หมายเลข 6916
    22 ม.ค. 2567