ความเข้าใจเรื่องจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ


    นี่คือการศึกษาให้รู้เรื่องของเราตามความเป็นจริง เมื่อกล่าวถึงจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุก็สามารถที่จะมีความเข้าใจ โดยที่รู้เหตุผลว่าทำไมไม่ประกอบด้วยเหตุก็เพียงแค่เห็น และก็ดับไป หมดไหม พอไหม แค่นั้นกรรมให้ผลแค่นี้เองหรือ แค่เห็นหรือไม่ ยังมีจิตที่จะรับรู้สิ่งที่จักขุวิญญาณเห็น รูปนั้นยังไม่ดับ โดยกรรมทำให้วิบากจิตเกิดต่อทำกิจนี้ซึ่งชื่อว่า สัมปฏิจฉันนจิต ทำ สัมปฏิจฉันนกิจ ไม่ต้องท่องเลยใช่ไหม มีใครลืมชื่อนี้บ้างหรือยัง ลืมไหม ไม่ลืม เป็นวิบาก รู้เลย ใครจะรู้หรือไม่รู้ แต่จิตนี้ก็ได้เกิดสืบต่อจากจักขุวิญญาณ

    เมื่อกล่าวโดยปัจจัย คือจิตทุกขณะเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดโดยเป็น "อนันตรปัจจัย" สัมปฏิจฉันนะจะมีเหตุเกิดร่วมด้วยไหม ไม่มี เป็นอเหตุกจิต ก็ต้องมี ๒ ประเภทในเมื่อเป็นผลของกรรม คือสัมปฏิจฉันนกุศลวิบาก ๑ สัมปฏิจฉันนอกุศลวิบาก ๑ ถ้าจักขุวิญญาณกุศลวิบากดับ สัมฏิจฉันนจิตประเภทไหนจะเกิดสืบต่อ เพราะว่าสัมปฏิจฉันนะมี ๒ สภาพธรรมใดที่ชื่อว่าวิบากจะต้องเป็นวิบากของกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม

    เพราะฉะนั้น เมื่อจักขุวิญญาณเป็นกุศลวิบาก เห็นสิ่งที่ดีดับแล้ว สัมปฏิจฉันนะที่เกิดต่อเป็นอะไร ต้องเป็นกุศลวิบากด้วย เปลี่ยนไม่ได้เลย รูปยังไม่ดับเป็นผลของกรรมเดียวกันที่จะทำให้วิบากจิตเกิดขึ้นรับผล เมื่อสัมปฏิจฉันนะดับแล้ว วิบากจิตก็ยังเกิดต่ออีกโดยกรรมเป็นปัจจัย ซึ่งทำกิจต่างกับสัมปฏิจฉันนะ คือ ทำกิจพิจารณาอารมณ์นั้น ใช้คำว่าพิจารณาแต่อย่าคิดว่าจะยาวนาน ชั่วหนึ่งขณะจิต สันตีรณะที่เกิดต่อจากสัมปฏิจฉันนกุศลวิบาก สันตีรณจิตนั้นเป็นประเภทอะไร กุศลวิบากเหมือนกัน เปลี่ยนไม่ได้เลย หมดเรื่องของวิบาก ยังมีอีกเล็กน้อยแต่ยังไม่กล่าวถึง แต่เพียงแต่ว่าเมื่อเล็กน้อยนี่หลังจากจิตอื่นเกิด และดับไป แต่ว่าก่อนที่จะเป็นกุศลหรืออกุศลจะต้องมีจิตเห็นเป็นกุศลวิบาก ถ้าอารมณ์นั้นเป็นที่น่าพอใจ สัมปฏิจฉันนะที่เกิดต่อเป็นวิบาก สันตีรณะที่เกิดต่อเป็นวิบาก หมดแค่นี้หลังจากนั้นไม่เป็นวิบากแล้ว เห็นแล้ว รับต่อแล้ว พิจารณาแล้วทั้งหมดนี่เป็นอเหตุกะ คือไม่มีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วยเลย

    ต่อจากนั้นก็จะเป็นโวฏฐัพพนจิต โดยสันตีรณจิตเป็นอนันตรปัจจัย และสมนันตรปัจจัย ที่จะทำให้จิตอื่นเกิดไม่ได้เลย นอกจากมโนทวาราวัชชนจิต ซึ่งขณะนั้นไม่ได้เกิดทางมโนทวาร ไม่ได้ทำอาวัชชนกิจ แต่ทำโวฏฐัพพนกิจ เพราะว่ามโนทวาราวัชชนจิตเป็น "ชวนปฏิปาทกมนสิการ" หมายความว่า เป็นจิตที่เกิดก่อนกุศล และอกุศล ไม่ว่าจะทวารไหนทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นทางปัญจทวาร ตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือ มโนทวาร มโนทวาราวัชชนจิตเกิดก่อน แต่ถ้าเป็นทางปัญจทวารไม่ได้ทำอาวัชชนกิจ แต่ทำโวฏฐัพพนกิจเกิดก่อนชวนะ หมายความว่า เมื่อโวฏฐัพพนจิตดับไปแล้ว กุศลหรืออกุศลของแต่ละคนจะเกิดตามการสะสมบังคับไม่ได้ เลือกไม่ได้

    ใครๆ ก็อยากจะมีกุศลมากๆ มีอกุศลน้อยๆ แต่ลองพิจารณาว่า วันหนึ่งตั้งแต่เช้ามา เช่นวันนี้อกุศลเกิดมาก หรือกุศลเกิดมาก นี่คือความเป็นผู้ตรง นี่คือความเป็นผู้เข้าใจธรรม เพราะเหตุว่าผู้ที่ตรงต้องเป็นไปเพื่อโลกุตตรธรรม หมายความว่าต้องตรงตั้งแต่ขั้นที่ต้องเข้าใจให้ถูกต้องตรงตามลักษณะของสภาพธรรม ไม่ใช่ตรงตามชื่อ ชื่อเราพูดได้ แต่ลักษณะของจิตที่เกิดต่อจากโวฏฐัพพนะ แต่ละคนยากจะรู้ เป็นอกุศลมากเท่าไหร่ ก็ไม่รู้ ใช่ไหม จะเป็นกุศลขณะนั้นก็จะรู้หรือไม่รู้ ว่าไม่ใช่เรา นี่ก็เป็นสิ่งซึ่งแสดงให้เห็นว่าต้องเป็นเรื่องของการศึกษาธรรมให้เข้าใจโดยละเอียดจริงๆ เพี่อประโยชน์

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 69


    หมายเลข 6921
    22 ม.ค. 2567