วิถีจิตที่เกิดขึ้นมารู้ปรมัตถ์หลายวิถี สติปัฏฐานระลึกทางทวารไหน อย่างไร


    ผู้ฟัง ผมข้องใจอยู่ที่ว่า เจริญสติปัฏฐานอย่างที่ว่า เราจะรู้นามและรูปโดยความเป็นปรมัตถ์ทางปัญจทวาร ขณะที่รู้นามหรือรูป ขณะนั้นเป็นวิถีจิตเดียวอันนั้นรู้ หรือว่าเปลี่ยนวิถีใหม่ขึ้นมารู้ใหม่

    ท่านอาจารย์ หลายวิถีค่ะ ไม่ใช่วิถีเดียว วิถีจิตหนึ่งที่คิดว่า ๗ ขณะมากนั้นนะคะ ความจริงดับไปอย่างรวดเร็วเหลือเกิน

    ผู้ฟัง เมื่อเป็นหลายๆวิถี โดยความคิดส่วนตัวของผม การที่เราจะประจักษ์จักขุวิญญาณที่กำลังปรากฏอยู่ อันนี้เป็นอันที่กำลังปรากฏอยู่ในปัจจุบัน จะเป็นวิถีเดียวกันที่ประจักษ์ว่า อันนี้เป็นจักขุวิญญาณหรือว่ารูปารมณ์ที่เป็นปรมัตถ์ อันนี้เป็นมโนทวารวิถีร่วมกันอย่างไร อันนี้อาจารย์ช่วยอธิบายให้กระจ่างหน่อยครับ

    ที่รู้จักขุวิญญาณจริงๆ ในขณะที่กำลังปรากฏอยู่เดี๋ยวนี้ เป็นวิถีของมโนทวารรู้ หรือว่าเป็นวิถีของปัญจทวารอันนั้น หรือกับวิถีใหม่รู้ ก็สงสัยอยู่ เพราะว่าที่กำลังรู้ของจริงที่กำลังปรากฏอยู่ในขณะนี้ ต่อหน้าต่อตานี้ จะเป็นวิถีไหน

    ท่านอาจารย์ การอบรมเจริญปัญญา อย่าลืมนะคะตามลำดับขั้น ฟังดูแล้วเหมือนกับว่า ต้องการที่จะเจาะจงเป็นวิถี ๆ ไปนะคะ แต่ความจริงแล้ว การอบรมเจริญปัญญานี้ ขอเพียงขั้นที่ให้รู้ว่า ลักษณะของนามธรรมนั้นเป็นสภาพรู้เท่านั้นจริง ๆ ได้ไหมคะ ยังไม่ต้องไปถึงวิถีไหน ๆ เลย เพียงแต่ให้สติระลึกศึกษาแล้วรู้จริง ๆ ว่า ลักษณะของนามธรรมซึ่งเกิดขึ้นนั้นเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เพียงเท่านี้ค่ะ เพียงให้เข้าถึงลักษณะแท้ ๆ ของนามธรรม ซึ่งเป็นธาตุรู้ สภาพรู้ ยังไม่ต้องเป็นวิถีไหนเลย แต่ขอให้เข้าใจให้ชัดเจนว่า นามธรรมนั้นเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ในขณะที่กำลังเห็น เพราะเวลานี้ก็ปนกันแล้ว ใช่ไหมคะ ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ มีใครสามารถที่จะรู้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่สภาพรู้ แต่สิ่งที่ปรากฏทางตานี้ ปรากฏเพราะมีสภาพรู้ที่กำลังเห็น เมื่อฟัง พิจารณาเข้าใจพยัญชนะ แล้วสติก็ยังจะต้องเริ่มระลึกจนกว่าที่จะรู้จริง ๆ ว่า ธาตุรู้ซึ่งเห็น เป็นแต่เพียงธาตุรู้ เป็นสภาพรู้เท่านั้นจริง ๆ เป็นอย่างไร

    ผู้ฟัง มันจะเป็นอย่างนี้ได้ไหมครับ อาจารย์ เราเกิดสติระลึกรู้ทางปัญจทวาร เช่น จักขุวิญญาณ รูปารมณ์ รูปที่เราเห็น ปกติเราเห็นปั๊บ เกิดความเป็นตัวตน หรือสัตว์บุคคลทันที การที่รู้ว่าเป็นตัวตนนี้ ผมเข้าใจว่าไปถึงมโนทวารวิถี คือ คิดถึงรูปร่างที่เคยเก็บไว้ในใจ แล้วเข้าใจว่าเอาอันนั้นมาเทียบ พอเห็นปั๊บอันนี้กับของเก่าเหมือนกัน ก็เลยเข้าใจว่า คนนี้ ชื่อนี้ สิ่งนี้ชื่ออย่างนั้น จึงจะเรียกกันถูก การเจริญสติปัฏฐานเป็นเช่นเดียวกับอย่างนี้ ได้ไหมครับ เป็นแต่ละภาวะที่ว่าเคยจำเป็นตัวตน แต่กลับเป็นปรมัตถ์ขึ้นมาแทนตัวตนในขณะนั้นหรือเปล่า เป็นลักษณะนี้หรือเปล่าครับ

    ท่านอาจารย์ ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานย่อมรู้ว่าสติเกิด หรือว่าหลงลืมสติ และผู้ที่เจริญสติปัฏฐานย่อมรู้ว่า เมื่อสติเกิดแล้ว สำเหนียก สังเกต น้อมพิจารณาที่จะรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ ขณะหนึ่ง หรืออาจจะหลาย ๆ ขณะ หลายวัน หลายเดือน หลายปี หรือว่าบางวัน บางเดือน บางปี ก็ไม่ได้ระลึกอย่างนี้เลย แล้วแต่สติจะเกิดหรือไม่เกิด และไม่ใช่เพียงแต่ศึกษารู้ลักษณะของสภาพสิ่งที่กำลังปรากฏเท่านั้น ยังจะต้องน้อมระลึกรู้ธาตุรู้ สภาพรู้ ที่กำลังรู้ คือ กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏ

    นี่คือการอบรมเจริญสติปัฏฐานที่จะรู้ลักษณะจริง ๆ ยังไม่ต้องไปห่วงกังวลถึงวิถีจิตอะไรทั้งสิ้น แต่ว่าการฟังเพื่อที่จะให้เข้าใจว่า ลักษณะของสภาพธรรมไม่ใช่ตัวตนอย่างไร เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้น แล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว แต่เพราะการเกิดสืบต่อของสภาพธรรมใหม่ ทั้งนามธรรมและรูปธรรม ปิดบังการดับไปของนามธรรมและรูปธรรมก่อน จึงทำให้ไม่เห็นว่า นามธรรมและรูปธรรมนั้นเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แล้วก็เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้นจึงฟังเพื่อที่จะให้เข้าใจ เพื่อเป็นปัจจัยให้สติระลึกและในที่สุดก็จะเริ่มเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรมเสียก่อน

    เพราะฉะนั้นไม่ต้องห่วงกังวลถึงปัญจทวารวิถี มหากุศลจิตเกิดที่ชวนะ ระลึกรู้ลักษณะของรูป แล้วพอถึงมโนทวารวิถีนั้น จะระลึกรู้ลักษณะของรูปที่ปรากฏ หรือว่าระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้ ธาตุรู้ แต่ตามปกติตามธรรมดาอย่างนี้ ยังไม่ต้องห่วงกังวลถึงวิถีไหน เพราะว่าตามความเป็นจริงแล้ว มหากุศลญาณสัมปยุตต์ซึ่งเป็นสภาพที่ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เกิดได้ทั้ง ๖ ทวาร

    เวลานี้ก็สืบต่อกันอยู่นะคะ ถ้าสติของใครจะเกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นแข็ง อ่อน เสียง สี กลิ่น รส หรือว่านามธรรมที่เห็น สภาพรู้เสียง สภาพรู้อ่อน รู้แข็งที่กำลังปรากฏ ก็เป็นมหากุศลจิต ซึ่งเกิดสืบต่อกันทั้ง ๖ ทวาร โดยที่ไม่จำเป็นเป็นต้องแยก

    ยังสงสัยไหมคะเรื่องนี้


    หมายเลข 6943
    24 ส.ค. 2558