กรรม ๒ อย่าง - วิบาก ๒ อย่าง
ท่านอาจารย์ ข้อความในอัฏฐสาลินี ในนิกเขปกัณฑ์ ติกนิกเขปกถา มีข้อความกล่าวถึง วิบากว่า
วิบากที่ถึงขณะแล้ว ชื่อว่า เกิดขึ้นแล้ว ที่ยังไม่ถึง แต่ย่อมจะถึงโดยแน่นอน ก็มี
เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า “วิบาก” มี ๒ อย่าง เช่นเดียวกับ “กรรม” มี ๒ อย่าง คือ กรรมที่มีผลแน่นอน ๑ และกรรมที่มีผลไม่แน่นอน ๑
เพราะฉะนั้นวิบากก็มี ๒ อย่าง คือ วิบากแห่งกรรมซึ่งได้โอกาสแล้ว หมายความว่า กรรมได้กระทำแล้ว ที่ถึงขณะแล้ว ๑ ที่ยังไม่ถึง ๑
แต่วิบากที่ยังไม่ถึง ได้แก่ กรรมที่มีผลแน่นอน แต่ว่ายังไม่ถึง
เพราะฉะนั้นเวลาที่เห็นสิ่งใดแล้ว ขณะนั้นจักขุวิญญาณเกิดขึ้น เป็นวิบากที่ถึงขณะแล้ว เวลาที่อยากจะรับประทานอาหารรสอร่อย อยาก แต่ยังไม่มีชิวหาวิญญาณเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นเวลาที่ชิวหาวิญญาณลิ้มรสอร่อยที่อุตส่าห์ติดตามแสวงหา ขณะนั้นเป็นวิบากที่ถึงขณะแล้ว คือ เกิดขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย แล้วแต่กรรม และแล้วแต่ประเภทของวิบากด้วย
เพราะฉะนั้นทำให้คิดว่า จะต้องได้รับรสอร่อยแน่ โดยลืมนึกถึงเหตุในอดีตว่า มีอดีตกรรมซึ่งเป็นกรรมที่จะให้ผลแน่นอน แต่ว่ายังไม่ถึง หรือว่าเป็นกรรมที่มีผลไม่แน่นอน อย่างคนที่ทำอนันตริยกรรม ฆ่ามารดาบิดา มีผลแน่นอนที่จะต้องเกิดในนรก แต่ว่าเมื่อยังเป็นมนุษย์อยู่ ก็ยังไม่ต้องตกนรก ยังไม่ปฏิสนธิในนรก แต่ว่าเมื่อจุติจิตของชาตินี้เกิดขึ้นและดับไป ปฏิสนธิจิตในอบายภูมิ ในนรกต้องมีแน่นอน แต่ว่าระหว่างที่ยังไม่จุติ เป็นกรรมที่ให้ผลแน่นอน แต่ยังไม่ถึง
เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทั้งหมด อย่าคิดว่าปราศจากกรรมในอดีต แล้วก็คิดว่า เป็นเพราะเป็นตัวตนที่มีความสามารถที่จะเห็นอะไรก็ได้ ได้ยินอะไรก็ได้ ได้กลิ่น ลิ้มรส สัมผัสอะไรก็ได้ แต่ทุกขณะที่เกิดแล้ว ให้ทราบว่า เป็นเพราะเหตุว่ากรรมนั้น วิบากนั้น เป็นวิบากที่ถึงขณะแล้วในขณะที่เกิดขึ้น