วิบากจิตทั้งหมดเป็นผลของอดีตกรรมที่ได้กระทำแล้ว
ท่านอาจารย์ วิบากจิตทั้งหมดเป็นผลของอดีตกรรมที่ได้กระทำมาแล้ว จักขุวิญญาณเป็นวิบากจิต สัมปฏิจฉันนะเป็นวิบากจิต สันตีรณะเป็นวิบากจิต ตทาลัมพนะเป็นวิบากจิต เพราะฉะนั้นจึงต้องรู้ความละเอียดว่า ขณะใดเป็นวิบาก ขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล และขณะใดเป็นกิริยา เพื่อที่จะไม่หลงปรารถนา ยึดมั่นในสิ่งที่ปรากฏ แล้วก็หมดไป จะเห็นสิ่งที่ดีสักเท่าไร เพชรนิลจินดา แก้วแหวนเงินทอง สีสันวัณณะที่น่าพอใจสักเท่าไร จักขุวิญญาณซึ่งเป็นวิบากเกิดแล้วก็ดับไป สัมปฏิจฉันนะเกิดแล้วก็ดับไป สันตีรณะเกิดแล้วก็ดับไป ตทาลัมพนะเกิดแล้วก็ดับไป เท่านั้นเองค่ะ ดับจริง ๆ แต่เพราะไม่รู้ว่า เป็นสิ่งซึ่งเกิดดับ เพราะเหตุว่าถึงแม้ว่าความชราจะปรากฏกับรูป เพราะเหตุว่านามธรรมไม่เคยปรากฏว่าชรา ใช่ไหมคะ แต่รูปธรรมนี้ยังปรากฏความชราได้ แต่รูปบางรูป ใครเห็นความชราบ้าง เช่น เพชร มีใครเห็นความชราของเพชรบ้างไหม แต่เมื่อไม่เห็นความชราของเพชร เห็นทีไรก็ยังคงพอใจในแสงสีของเพชร แล้วก็กำหนดราคาของความพอใจไว้ด้วยว่า มีความพอใจในเพชรนั้นสูงต่ำแค่ไหน ถ้าราคาสูงมาก ก็แสดงว่า โลภะสูงมาก ตามกำลังของโลภะ ถ้าราคานิดหน่อย ก็แสดงว่า โลภะกำหนดราคาตามความพอใจในวัตถุนั้นเพียงเล็กน้อย แต่ความชราของเพชรไม่ได้ปรากฏ แต่ความชราของรูปร่างกายของสัตว์ บุคคลนี้ปรากฏ
เพราะฉะนั้นขณะใดที่เป็นรูปสีสันวัณณะที่น่าพอใจ แล้วจักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็นเป็นวิบาก สัมปฏิจฉันนะเป็นวิบาก สันตีรณะเป็นวิบาก ตทาลัมพนะเป็นวิบาก แล้วก็หมดค่ะ ไม่มีการเห็นสิ่งนั้น จนกว่าวิถีจิตจะเกิดอีก
เพราะฉะนั้นควรจะรู้ว่า วิบากจิตทางตาเห็นขณะใด เป็นผลของอดีตกรรม พร้อมทั้งวิบากจิตซึ่งเป็นวิถีอื่น ๆ ด้วย
ทางหู ได้ยินเสียงที่น่าพอใจ ไม่น่าพอใจ ก็เพียงชั่วขณะที่วิบากจิตเกิดขึ้นเป็นวิถีจิตได้ยินเสียงนั้น แล้วก็ดับหมดจริง ๆ แต่ว่ากุศลและอกุศลนี้มีปัจจัยที่จะเกิด มีความพอใจ ไม่พอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย มากมายเหลือเกิน ที่ว่ามากก็คือว่า เกิดอีก แล้วก็เกิดอีก ๆ ๆ โดยขั้นของการฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ไม่สามารถที่จะดับอกุศลได้ ทั้ง ๆ ที่รู้ว่า เป็นเพียงจักขุวิญญาณ การเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นวิบาก เป็นผลของอดีตกรรม แต่ก็ยับยั้งความพอใจ คือ โลภะ ไม่ให้เกิดไม่ได้ ในขณะที่เห็นสิ่งที่พอใจ
เพราะฉะนั้นจึงต้องเข้าใจธรรมที่ปรากฏให้ถูกต้องตามความเป็นจริง เพื่อจะได้อบรมเจริญปัญญาถึงขั้นที่จะประจักษ์แจ้งสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนจริง ๆ และการรู้ธรรมโดยละเอียดเห็นโทษของอกุศลมากขึ้น ก็จะทำให้อบรมเจริญกุศลยิ่งขึ้นทุกขั้น เพราะรู้ตัวว่าเป็นผู้ที่มีกิเลสมากเหลือเกิน