ธรรมที่เป็นอดีตที่ล่วงไปแล้ว


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นขอกล่าวถึงข้อความในอัฏฐสาลินี ที่แสดงลักษณะของธรรมที่เป็นอดีต ที่ล่วงไปแล้ว ในอตีตติกกะ ซึ่งเป็นคำอธิบายอตีตธรรม หมายความถึงธรรมที่ล่วงไปแล้ว หรือดับไปแล้ว ซึ่งมีหลายพยัญชนะ คือ

    คำว่า “ล่วงไปแล้วคือ ล่วงไปแล้ว ๓ ขณะ ทั้งขณะที่เกิด ขณะที่ตั้งอยู่ และขณะที่ดับ จิตนี้มีอายุที่สั้นมาก เล็กน้อยเหลือเกิน เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป ขณะที่เกิดไม่ใช่ขณะที่ตั้งอยู่ ไม่ใช่ขณะที่ดับ ขณะที่ตั้งอยู่ไม่ใช่ขณะที่เกิด ไม่ใช่ขณะที่ดับ ขณะที่ดับไม่ใช่ขณะที่เกิด ไม่ใช่ขณะที่ตั้งอยู่

    เพราะฉะนั้นถ้าเกิดขึ้นและกำลังตั้งอยู่ ยังไม่ชื่อว่า เป็นอดีต สำหรับฐีติขณะ แต่สำหรับขณะอุปาทะเป็นอดีตแล้ว

    เพราะฉะนั้นเวลาที่จะศึกษาต่อไปในเรื่องของรูปจะทราบได้ทีเดียวว่า รูปเกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน เกิดทุกขณะของจิต คือ ทั้งอุปาทขณะ ฐีติขณะ และภังคขณะ รูปที่เกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน เกิดพร้อมกับการเกิด คือ อุปาทะของจิต รูปที่เกิดเพราะอุตุเป็นสมุฏฐาน เกิดพร้อมในฐีติขณะของจิต และรูปที่เกิดเพราะอาหารเป็นสมุฏฐาน เกิดเฉพาะในฐีติขณะเท่านั้น

    เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า ในขณะที่ต่างกัน ๓ ขณะของจิต คือ อุปาทขณะที่เกิดมีรูปที่เกิดเพราะจิตเกิดด้วย มีรูปที่เกิดเพราะกรรมเกิดด้วย ในฐีติขณะของจิตมีรูปที่เกิดเพราะอุตุ และมีรูปที่เกิดเพราะอาหาร และมีรูปที่เกิดเพราะกรรมเกิดด้วย มีรูปในภังคขณะมีรูปที่เกิดเพราะกรรมเท่านั้นเกิดขึ้น ทั้ง ๆ ที่จิตเกิดดับอย่างรวดเร็ว

    เพราะฉะนั้นขณะทั้ง ๓ ก็หมดไปอย่างรวดเร็วด้วย แต่ธรรมใดที่เป็นอดีต หมายความว่า คำว่า ล่วงไปแล้ว คือล่วงไปแล้ว ๓ ขณะ ไม่มีเหลือทั้งอุปาทขณะ ฐีติขณะ และภังคขณะ หมดไป ๆ ๆ ทุกขณะ ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ไม่ระลึก ไม่รู้ ก็จะไม่ประจักษ์ในลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนของนามธรรมและรูปธรรมซึ่งเกิดดับอย่างรวดเร็ว

    คำอธิบายต่อไป มีว่า คำว่า ดับแล้ว คือถึงความดับแล้ว เหมือนไฟดับ ใช่ไหมคะ ดับแล้ว ไม่มีอีก หมดจริง ๆ หายไปเลยจริง ๆ ดับแล้วจริง ๆ

    คำว่า ปราศไปแล้ว คือ ถึงความปราศไปแล้ว หรือไปปราศแล้ว เหมือนคนตายไหมคะ ปราศไปแล้ว หรือไปปราศแล้ว ไม่เหลือเลย นั่นคือลักษณะของความดับ

    คำว่า แปรไปแล้ว คือ ถึงความแปรไปด้วยการละปกติ ปกติ คือ มี แต่แปรไปด้วยการละปกติ คือ ไม่มี

    คำว่า อัสดงคตแล้ว ด้วยอรรถว่า ถึงความตั้งไม่ได้ กล่าวคือ ความดับ

    คำว่า อพฺภตฺถงฺคตา ที่แปลว่า ถึงความดับสูญแล้ว ทรงเพิ่มบทด้วยอุปสัค คือ ถ้าใช้คำว่า ดับ ก็จะชินกับคำว่า ดับ เพราะฉะนั้นก็ต้องเพิ่มบทด้วยอุปสัค คือ ให้รู้ว่าถึงความดับสูญแล้ว ไม่เหลือจริง ๆ จะคิดว่ามีอะไรที่เหลืออยู่เวลานี้ เป็นความเข้าใจผิด เพราะเหตุว่าสิ่งที่ดับแล้ว สูญแล้วจริง ๆ

    คำว่า เกิดขึ้น แล้วปราศไป คือ บังเกิดแล้วปราศไป ไม่ใช่ว่า ไม่มีนะคะ มี เพราะเกิดขึ้น แต่ว่าเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็ปราศไป คือ หมดไป สูญจริง ๆ ไม่เหลือเลย

    ธรรมส่วนที่ล่วงไปแล้วเหล่านั้นอะไรบ้าง คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ได้แก่ ธรรมที่เป็นสังขารธรรม ได้แก่ ขันธ์ทั้ง ๕ คือ รูปขันธ์ รูปทุกชนิดที่เกิดขึ้นแล้วดับไป เวทนา ความรู้สึกทุกชนิด เกิดขึ้นแล้วดับไป สัญญา ความจำทุกชนิด เกิดขึ้นแล้วดับไป สังขาร ได้แก่ เจตสิกซึ่งปรุงแต่งเป็นกุศล เป็นอกุศล เป็นโลภะ เป็นโทสะ เป็นอิสสา เป็นมัจฉริยะ เป็นปัญญา เป็นวิริยะ ทุกอย่างเกิดขึ้นแล้วดับไป วิญญาณ คือ สภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ เกิดขึ้นแล้วดับไป

    เพราะฉะนั้นยังอาลัย ยังยึดถือ ยังผูกพัน อยู่กับขันธ์ไหนบ้างคะ ในเมื่อทุกขันธ์นี้เกิดแล้วก็ดับไป เกิดแล้วก็ดับ สูญไปด้วย ไม่ใช่ดับแล้วจะมีเหลือนะคะ แต่ว่าดับสูญไป ปราศไป

    เพียงขั้นการฟัง ดับกิเลสไม่ได้เลย ใช่ไหมคะ ยังอยู่เต็มทีเดียว เพราะฉะนั้นจึงต้องฟังให้เข้าใจ เป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้สติระลึกรู้สิ่งที่ได้ยิน ได้ฟัง แล้วก็เข้าใจ จนกว่าจะประจักษ์ลักษณะที่เกิดขึ้นและดับไป จึงจะละการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้

    นี่ยังไม่ต้องถึงขณะที่ตาย ในชั่ววันหนึ่ง ๆ นี้ เคยชอบสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ยึดถือว่าเป็นตัวเรา เป็นของเรา เป็นสมบัติของเรา แท้ที่จริงทุกอย่างเกิดขึ้นปรากฏขณะที่เป็นวิถีจิตเท่านั้นเอง แล้วสภาพธรรมใดที่เป็นวิบากจิต ก็เป็นผลของกรรม ใครจะมีบ้านเรือน ทรัพย์สมบัติ เสื้อผ้าอาภรณ์มากมายอย่างไร ประณีตสวยงามอย่างไร วิบากจิตเป็นผลของอดีตกรรมเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้น ๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แล้วไม่ยั่งยืนเลย เพียงชั่วขณะที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ๆ ๆ แล้วก็ไม่มีใครรู้ว่า กรรมใดจะให้ผลในขณะต่อไป เพราะว่าทุกคนมีทั้งกุศลกรรมและอกุศลกรรมในอดีตที่ได้กระทำมาแล้ว พร้อมที่ว่า มีปัจจัยใดจะทำให้กรรมใด ให้วิบากใดเกิดขึ้น วิบากนั้นก็เกิดขึ้น ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง เท่านั้นเอง

    เพราะฉะนั้นนี่ก็คงเป็นวิริยารัมภกถา ที่จะทำให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ แล้วก็น้อมศึกษาพิจารณาจนกว่าจะรู้ในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงนามธรรมหรือรูปธรรมแต่ละลักษณะที่กำลังปรากฏทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ


    หมายเลข 6971
    24 ส.ค. 2558