เราคิดอนุมานได้ แต่ยังไม่รู้ความจริงของอารมณ์ในชั่วขณะจิตนั้น
อ.ธิดารัตน์ คือ รู้สึกว่าขณะที่เห็นพระบรมสารีริกธาตุต่างจากการเห็นสิ่งอื่น ซึ่งเป็นความรู้สึกได้ แม้กระทั่งวันเปิดที่มูลนิธินำพระธาตุมาในผอบ และก็ได้มาดู สิ่งที่ปรากฏทางตาตรงนั้นต่างจากสิ่งที่ปรากฏทางตาที่เคยระลึกมา
อ.อรรณพ การที่เรามีอุปนิสัยในพระพุทธศาสนาก็ทำให้เรามีความปลื้มปิติ ใครจะรู้ได้ จริงๆ อาจจะเป็นอย่างที่คุณธิดารรัตน์กล่าว แต่จริงๆ เราก็คิดเองใช่ไหม แน่นอนเราเห็นพระบรมสารีริกธาตุ เรามีความเลื่อมใสศรัทธา มีความปิติโสมนัสมาก แต่ในชั่วขณะที่จักขุวิญญาณเกิด เราจะรู้ละเอียดได้ถึงอารมณ์ของจักขุวิญญาณ แล้วจะรู้ได้ในความที่เป็นอิฏฐารมณ์ อติอิฏฐารมณ์ได้อย่างไร คิดว่าเราคงไม่สามารถที่จะรู้ได้จริงๆ
ท่านอาจารย์ นี่ก็เป็นสิ่งที่จะยืนยันได้ว่าสิ่งที่กระทบตามีอายุ ๑๗ ขณะ ดับเร็วแค่ไหน ถ้าเราไม่คิดนึกทางมโนทวารว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร จะสามารถแยกออกได้ไหมว่าสิ่งนั้นเป็นพระบรมสารีริกธาตุหรือไม่ใช่พระบรมสารีริกธาตุ จริงๆ แล้วผู้ที่รู้ และทรงแสดงคือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่จะไม่มีใครเลยที่สามารถจะบอกได้ว่านี่เป็นอิฏฐารมณ์ นี่เป็นอติอิฏฐารมณ์ นี่เป็นอนิฏฐารมณ์ เพราะจะไปนำความคิดที่เราสะสมมาเป็นความชอบ ความไม่ชอบขณะนั้นเป็นเครื่องตัดสิน แต่ถ้าคิดถึงรูปมีอายุ ๑๗ ขณะ และเวลาที่ปรากฏทางแต่ละทวารยังไม่มีเรื่องราวเข้ามาเลย เป็นวิสัยที่ใครจะบอกได้ เพราะในขณะนี้กี่วาระ ขณะนี้สภาพธรรมกำลังเกิดดับทางแต่ละทวารนับไม่ถ้วน ชั่วขณะนั้นก็เกินวิสัยที่บุคคลอื่นจะกล่าวได้ เพียงแต่ว่าอนุมานได้ว่าเป็นสิ่งที่น่าพอใจ น่าเพลิดเพลิน น่ายินดี เช่น อารมณ์ในสวรรค์ เสียงในสวรรค์หรือเสียงที่ไพเราะ แต่จริงๆ แล้วก็คือชั่วขณะที่สิ่งนั้นเกิดแล้วดับ
บางครั้ง สิ่งที่เราคิดว่าไพเราะ เช่น เครื่องดนตรี เมื่อดังมาก เพราะไหม นี่ก็แสดงให้เห็นว่าเครื่องดนตรีอย่างเดิม แต่เสียงที่กระทบหูจริงๆ ขณะนั้นมีอายุ ๑๗ ขณะ แล้วดับ ฉะนั้น เราจะใช้เป็นเครื่องวัด และก็มั่นใจไม่ได้ นอกจากความจริงเท่าที่เราสามารถจะรู้ได้คืออย่างไร ก็คือรู้ว่ารูปมีอายุเกิดดับ ๑๗ ขณะ แล้วก็มี ๒ อย่าง คือ รูปที่น่าพอใจ และรูปที่ไม่น่าพอใจ จึงมีผลของกุศลที่จะรู้รูปนั้นว่าขณะใดก็ตามที่เป็นกุศลวิบาก ขณะนั้นต้องมีรูปที่เป็นอิฏฐารมณ์ ขณะใดที่เป็นอกุศลวิบาก ขณะนั้นก็รู้รูปที่เป็นอนิฏฐารมณ์คืออารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ
ที่มา ...