วิถีจิตตรงชวนะทำให้เนิ่นช้าหรือเปล่า จึงไม่ดีอย่างใจ
ผู้ฟัง เราเรียนเรื่องวิถีจิต ก็ทราบว่าต้องมีจิตที่ทำกิจนั้นๆ ในขณะนั้นก็มีวิบากซึ่งทราบว่าเป็นผลของกรรม แต่พอมาถึงตรงที่เป็นชวนะ จิตที่ทำกิจตรงนี้ ก็ไม่ได้ดีอย่างใจ ฉะนั้นตรงนี้จะทำให้เรารู้สึกเนิ่นช้าไป ตรงนี้หรือเปล่า แล้วทำอย่างไรจึงจะดีได้เร็วดั่งใจ
ท่านอาจารย์ เพราะว่ามีเราฟังพระธรรม แล้วก็มีเราที่ต้องการจะเป็นคนดี แล้วเวลาที่อกุศลธรรมเกิดก็เราไม่ดี ก็เดือดร้อนใจ ฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่เราต้องฟังด้วยการพิจารณาไตร่ตรอง ทุกครั้งที่ฟังพระธรรม ขอให้มีความเข้าใจที่ไม่ลืมเลยว่ากำลังฟังเพื่อที่จะเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ ดังนั้นก็จะเตือนให้ทราบว่าขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏ ฉะนั้นไม่ว่าจะได้ยินคำอะไร เรื่องอะไรทั้งหมดก็จะไม่พ้นจากสิ่งที่กำลังปรากฏ เช่นได้ยินคำว่าธรรม หรือเรากำลังฟังธรรม ก็ต้องรู้ว่าธรรมก็คือสิ่งที่กำลังปรากฏ มีลักษณะจริงๆ ที่กำลังปรากฏ แล้วฟังทำไม เรื่องสิ่งที่กำลังปรากฏก็ปรากฏเป็นปกติ ทางตาก็เห็น ทางหูก็ได้ยิน ทางจมูกก็ได้กลิ่น ทางลิ้นก็ลิ้มรส ทางกายก็รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ทางใจก็คิดนึก แม้คิดนึกเมื่อสักครู่นี้ก็เป็นสิ่งที่มีจริงๆ เพราะฉะนั้นฟังทำไมเรื่องธรรมดา แล้วแต่ว่าใครจะคิดอะไรก็ตามเหตุตามปัจจัย แต่ฟังเพื่อให้เข้าใจว่าเป็นธรรมซึ่งเป็นอนัตตา คือ ทุกคำต้องซ้ำแล้วซ้ำอีกเพื่อสัญญาความจำที่มั่นคงจะได้ไม่เปลี่ยนแปลง หรือว่าจะไม่หลงลืม ให้รู้ว่าขณะนี้เป็นธรรม ฟังธรรมขณะไหนให้ทราบว่ากำลังฟังเพื่อให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ แม้แต่คำว่าปฏสนธิจิตดับแล้ว ก็ให้เข้าใจว่าปฏิสนธิจิตมีจริงๆ แน่นอน ถ้าปฏิสนธิจิตไม่มี ขณะนี้ก็มีไม่ได้เลย เพราะว่าต้องมีการเกิดสืบต่อจนกระทั่งแต่ละคนจะอายุมากบ้าง น้อยบ้างเท่าไหร่ ก็สืบต่อมาจากปฏิสนธิจิต เพราะฉะนั้นปฏิสนธิจิตเป็นเพียงขณะแรก ซึ่งเราเข้าใจได้ ขณะสุดท้ายก็คือจุติ คือขณะที่จิตขณะสุดท้ายเกิดแล้วดับพ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้ แต่ขณะนี้ยังไม่พ้น เมื่อยังไม่พ้นเราก็ศึกษาเรื่องของสิ่งที่มีในขณะนี้ ปฏิสนธิจิตเข้าใจแล้ว จุติจิตก็เข้าใจแล้ว แล้วก็จิตระหว่างที่ยังไม่จุติ ขณะนี้ก็มีอยู่ ซึ่งจะเห็นได้ว่าที่เราได้ฟังมาทั้งหมด เราทราบความต่างกันของจิตที่เป็นภวังค์ ไม่รู้อารมณ์ของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กับจิตซึ่งรู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใด เรื่องนี้คงไม่ลืมแล้วใช่ไหม สัญญาจำได้มั่นคง แล้วก็รู้ว่าขณะนี้เป็นจิตประเภทไหน ภวังคจิตหรือไม่ใช่ภวังคจิต ขณะเห็นไม่ใช่ภวังคจิต ขณะได้ยินไม่ใช่ ขณะได้กลิ่นก็ไม่ใช่
ฉะนั้นเรากำลังพูดให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ว่าไม่ใช่เรา เพราะเป็นจิต เมื่อบอกว่าไม่ใช่ภวังคจิต ก็เพราะว่าจิตนี้ไม่ได้ทำกิจภวังค์ แต่จิตนี้ทำกิจอื่นต่างๆ กันไป เช่น จิตเห็นทำกิจอื่นไม่ได้เลยนอกจากเห็น ไม่มีใครบังคับให้จิตนี้เกิดได้ แต่กรรมเป็นปัจจัยให้จิตเห็นเกิดขึ้น เมื่อกรรมให้ผลจะให้ผลเป็น ๒ ประเภท คือให้ผลที่ว่าไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ อโลภะ อโทสะ อโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วยเลย เป็นอเหตุกจิต ฉะนั้นวันหนึ่งๆ เราไม่เคยรู้มาก่อนเลย เราเห็นแต่ไม่รู้ว่าเป็นจิตประเภทใด แต่เมื่อฟังแล้วก็มีความเข้าใจเพิ่มขึ้น เพียงแค่เห็นยังไม่ได้ประกอบด้วยเจตสิกหนึ่งเจตสิกใดที่เป็นเหตุ แต่จิตจะเกิดขึ้นโดยไม่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยไม่ได้
เพราะฉะนั้น จิตเห็นต้องมีเจตสิกอื่นซึ่งไม่ใช่เหตุเกิดร่วมด้วย แต่เมื่อไม่ได้เกิดร่วมกับเจตสิกที่เป็นเหตุจึงใช้คำว่า "อเหตุกะ" เพราะฉะนั้นเพิ่มคำแล้วใช่ไหม "เห็น" เป็นจิตประเภทไหน อเหตุกะ คือ ไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ อโลภะ อโทสะ อโมหะเกิดร่วมด้วย "ได้ยิน" ก็เช่นเดียวกัน "ได้กลิ่น" ก็เช่นเดียวกัน "ลิ้มรส" ก็เช่นเดียวกัน "รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส" ก็เช่นเดียวกัน มีทางที่กรรมจะให้ผล ๕ ทาง ให้ทราบว่าเมื่อได้กระทำกรรมลงไปแล้ว กรรมจะให้ผล ๕ ทาง คือ ให้เห็นดีเป็นกุศลวิบาก ไม่ดีเป็นอกุศลวิบาก ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย รวม ๑๐ ดวง หรือ ๑๐ ประเภท เป็นอเหตุกะ
ที่มา ...