เรียกชื่อจิตตามอารมณ์ หรือทางที่จิตเกิด หรือกิจของจิตนั้น


    ก็ให้ทราบว่า จิตจะต้องทำกิจ บางครั้งเรียกชื่อจิตตามอารมณ์ บางครั้งเรียกชื่อจิตตามเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย และบางครั้งเรียกชื่อจิตตามกิจ เช่น สัมปฏิจฉันนะเกิดต่อจากจักขุวิญญาณ จักขุวิญญาณ เรียกชื่อนี้โดยอาศัยตาซึ่งเป็นทางที่จะทำให้รู้สิ่งที่ปรากฏ "จักขุวิญญาณ" ต้องมีจิตที่อาศัยจักขุเกิดขึ้นแล้วก็เห็นสิ่งที่ปรากฏ นี่เรียกชื่อตามทางก็ได้ หรือที่เกิดก็ได้ แต่เมื่อจักขุวิญญาณดับไปแล้ว มีจิตเกิดสืบต่อ ยังไม่ถึงกุศล และอกุศลเลย นี่คือการที่จะได้เข้าใจความรวดเร็วของสภาพธรรมซึ่งไม่สามารถจะรู้ได้ แม้ฟังเข้าใจได้ แต่ว่าจะประจักษ์หรือไม่ นั่นก็ตามแต่กำลังปัญญาของแต่ละบุคคล ผู้ที่ได้ประจักษ์แล้วทรงแสดงตามความเป็นจริงว่าจักขุวิญญาณดับแล้ว กุศล อกุศลยังเกิดทันทีไม่ได้เลย ต้องมีจิตซึ่งเกิดสืบต่อเร็วมากซึ่งไม่ปรากฏเลย ขณะนี้ถ้าจะปรากฏก็เพียงแค่เห็น แล้วชอบหรือไม่ชอบ เป็นกุศล และอกุศล แต่จิตที่อยู่ในระหว่างนั้นไม่ได้ปรากฏให้รู้ แต่ผู้ที่ทรงตรัสรู้แล้วได้แสดงให้เห็นความเป็นอนัตตาว่าไม่ใช่เราเลย

    ก่อนที่จะถึงกุศลจิต และอกุศลจิต เมื่อจิตเห็นดับไปแล้ว จิตที่เกิดต่อรับรู้สิ่งที่ปรากฏทางทวารนั้นๆ เช่น ถ้าเป็นทางตา สัมปฏิจฉันนะก็มีสีที่กำลังปรากฏ สิ่งที่กำลังปรากฏกับจักขุวิญญาณเหมือนกันอย่างนั้น รูปนั้นยังไม่ดับ เพราะฉะนั้นก็มีรูปนั้นที่เป็นอารมณ์ ถ้าเป็นทางหูเพียงได้ยิน ได้ยินขณะนี้ไม่รู้อะไรเลย รวดเร็วเหลือเกิน แล้วก็มีจิตชอบ ไม่ชอบ เป็นอกุศล หรือ กุศลเกิดต่อ ก็ไม่รู้อีก ดับไปหมดแล้วด้วยความไม่รู้ แต่ฟังเพื่อให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ให้เห็นความเป็นอนัตตา ความไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรมว่าเมื่อโสตวิญญาณเรียกชื่อตามโสต วิญญาณที่รู้โดยอาศัยทวารหูดับไปแล้ว ต้องมีจิตที่เกิดต่อ ทำหน้าที่รับรู้ต่อ ภาษาไทยเราใช้คำนี้ได้ ภาษาบาลีใช้คำว่าสัมปฏิจฉันนะ เราก็เพิ่มชื่อขึ้นมาทีละนิดทีละหน่อยก็คงจะไม่ยาก เราจำวันจันทร์ วันอังคาร วันพุธ วันพฤหัส วันศุกร์ วันเสาร์ วันอาทิตย์ ๗ ชื่อได้ เราก็จำชื่อสัมปฏิจฉันนะเพิ่มมาอีก เมื่อจักขุวิญญาณดับไปแล้ว สัมปฏิจฉันนะเกิดต่อ แสดงทำไมทั้งๆ ที่ใครก็ไม่รู้ แต่ให้เห็นตามความเป็นจริงว่าขณะนี้จิตเกิดขึ้นทำหน้าที่รับรู้สืบต่อจากจักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะยังเป็นกุศลหรืออกุศลไม่ได้เลย และอะไรทำให้สัมปฏิจฉันนะเกิดรับรู้อารมณ์ต่อ อารมณ์เดียวกับจักขุวิญญาณหรือโสตวิญญาณ กรรมนั่นเองที่เป็นปัจจัยให้ผลไม่ใช่เพียงขณะเห็น แต่แม้ขณะที่จะต้องรับรู้อารมณ์นั้นต่อก็เป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว ไม่มีใครไปบันดาลเลยว่าจักขุวิญญาณดับแล้ว กุศลจิต และอกุศลจิตเกิดต่อทันที เป็นไปไม่ได้เลย ธรรมต้องเป็นไปตามปัจจัย คือ อนันตรปัจจัย สมนันตรปัจจัย ยิ่งเรียนยิ่งเข้าใจในความเป็นอนัตตาของสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ ลืมไม่ได้เลยว่า การศึกษาธรรมเพื่อให้เข้าใจถูกต้องในสิ่งที่กำลังปรากฏ

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 72


    หมายเลข 6986
    22 ม.ค. 2567