การฟังที่ประเสริฐเป็นอนุตตริ
ขณะนี้จะเป็นอนุตตริยะ การฟังที่ประเสริฐ เพราะเหตุว่า เป็นมูลที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมในกาลข้างหน้า ขณะใดก็ตามที่มีความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ศึกษาธรรมคือศึกษาเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏซึ่งจะเป็นมูลให้มีการรู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏข้างหน้าได้ ก็เป็นการฟังที่ประเสริฐกว่าสิ่งอื่น
เพราะฉะนั้น เราก็จะเห็นว่า แม้ว่าไม่มีใครสามารถที่จะรู้ลักษณะของสัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะในขณะนี้ เพราะมีเพียงแค่เห็น และก็มีเพียงแค่ได้ยิน และก็มีกุศล อกุศลซึ่งเกิดสืบต่อ และก็ดับไปก่อนจะรู้ด้วยซ้ำไปว่าเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล นี่คือการเกิดดับของสภาพธรรมอย่างเร็วมาก สัมปฏิจฉันนะก็เป็นวิบาก และก็เป็นอเหตุกะด้วย สำหรับอเหตุกะ ๑๕ เราค่อยๆ จำว่าจาก ๑๐ เป็นสัมปฏิจฉันนะ ๒ เพราะเป็นกุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑ ถ้าจิตเห็นเป็นกุศลวิบาก สัมปฏิจฉันนะเป็นกุศลวิบากแน่นอน รู้รูปเดียวกันเป็นผลของกรรมเดียวกัน เมื่อสัมปฏิจฉันนะดับไปแล้ว สันตีรณะเกิดต่อ คือพิจารณาสิ่งที่รับต่อจากสัมปฏิจฉันนะ ชั่วหนึ่งขณะไม่ต้องเสียเวลาไปคิดเลย ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน แต่จิตนั้นเกิดขึ้นทำหน้าที่นั้นก่อนที่กุศลจิต และอกุศลจิตจะเกิด ให้ทราบว่าช่วงคั่นระหว่างเห็นแล้วก็เป็นกุศล อกุศล ก็มีจิตที่เป็นสัมปฏิจฉันนจิตเกิด สันตีรณจิตเกิด และโวฏฐัพพนจิตเกิด สำหรับสัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิตเป็นวิบาก แต่โวฏฐัพพนจิตเป็นกิริยาจิต
อเหตุกจิต ๑๘ ดวงเป็นวิบาก ๑๕ เป็นกิริยา ๓ วิบาก ๑๕ ครบหรือยัง ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ เห็น ๒ ได้ยิน ๒ ได้กลิ่น ๒ ลิ้มรส ๒ รู้สิ่งที่กระทบทางกาย ๒ สัมปฏิจฉันนะอีก ๒ เป็น ๑๒ สันตีรณะ ๓ นี้ก็ครบแล้วอเหตุกวิบาก สำหรับสันตีรณะ ๓ ก็มี ๒ ประเภท คือกุศลวิบากกับอกุศลวิบาก สำหรับอกุศลวิบากอุเบกขาสันตีรณะ ๑ สำหรับกุศลวิบากเป็นอุเบกขาสันตีรณะ ๑ และโสมนัสสันตีรณะ ๑ ต่างกันที่เวทนา เพราะเหตุว่า อารมณ์ที่ปรากฏก็จะมีทั้งอารมณ์ที่ประณีตกับอารมณ์ที่ไม่ประณีต แต่เป็นอารมณ์ที่ดี เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นอารมณ์ที่ประณีตมาก ไม่มีใครไปเลือก ไม่มีใครไปจัดสรรเลย โสมนัสสันตีรณะเกิดแล้วตามเหตุตามปัจจัย และก็ดับไป รู้ไหมขณะนี้ ว่าเป็นอย่างนี้ จักขุวิญญาณเกิดแล้วดับ สัมปฏิจฉันนะเกิดแล้วดับ สันตีรณะเกิดแล้วดับ โวฏฐัพพนะเกิดแล้วดับ แต่จะรู้ตอนที่เป็นกุศล หรืออกุศล ถ้ารู้ แต่ปกติรู้หรือเปล่า เห็นไหม ไม่รู้ทั้งๆ ที่มี
เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรมเพื่อให้เข้าใจสิ่งที่กำลังมี ให้เข้าใจยิ่งขึ้นในความไม่ใช่ตัวตน ในความเป็นอนัตตาของธรรม มิฉะนั้นการฟังของเราจะไม่มีประโยชน์เลย ฟังแล้วชาติหน้าลืมหมด ถ้าไม่รู้ว่าฟังเพื่อเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมีในขณะนี้ ให้เข้าใจขึ้น ความเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย จะทำให้ถึงกาละที่สติสัมปชัญญะเกิด เข้าใจสิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟัง ซึ่งซ้ำแล้วซ้ำอีก ขณะนั้นก็จะเป็นสติปัฏฐานเป็นทางที่จะทำให้ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น การฟังขณะนี้เองไม่สูญหายเลย
ที่มา ...