อารมณ์ที่ดี กับ อารมณ์ที่ไม่ดี


    ผู้ฟัง ขอให้ขยายคำว่าอารมณ์ดีกับอารมณ์ไม่ดี เพราะเวลานี้สับสน มองเสร็จแล้วชอบก็ว่าเป็นอารมณ์ดี ไม่ชอบก็ว่าเป็นอารมณ์ไม่ดี

    ท่านอาจารย์ ขอกล่าวถึง"รูป" เป็นสิ่งที่มีจริง สิ่งที่ปรากฏทางตา เหมือนกันหรือหลากหลาย หลากหลาย เมื่อเห็นแล้วก็รู้สึกสบายใจ ชอบหรือติดข้องก็มี หรือเห็นแล้วก็รู้สึกกลัว ตกใจ ไม่สบายใจเลยก็มี ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ก็เรียกชื่อให้เข้าใจสิ่งที่มี ที่ต่างกัน มีจริงๆ ถ้าสิ่งไหนที่ทำให้เกิดทุกข์โทมนัส โดยสภาพของสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ขณะนั้นใช้ชื่อว่า อนิฏฐารมณ์ เพราะว่าลักษณะนั้นมีจริงๆ ไม่ใช่ไม่มี แต่ส่วนสภาพของรูปใดที่มีจริง เวลาเห็นก็สบายใจ ขณะนั้นก็ไม่เดือดร้อนใจเลย และมากกว่านั้นก็คือยังติดข้องในสิ่งนั้นเสียด้วย แต่ก็จะกล่าวเฉพาะเรื่องของรูปซึ่งมีลักษณะต่างกันเป็น ๒ อย่างตามความเป็นจริงคือ รูปที่น่าพอใจ ใครๆ เห็นส่วนใหญ่แล้วก็สบายใจ พอใจเป็นอย่างหนึ่ง และรูปที่ไม่น่าพอใจเลย เห็นแล้วก็ตกใจแล้วก็กลัว หรือเสียงก็เหมือนกัน เสียงดังสนั่น ทุกคนตกใจกันทั้งนั้น ขณะนั้นก็เป็นเสียงที่ต่างกับเสียงที่อ่อนหวานไพเราะ เสียงดนตรี เสียงที่น่าฟัง แสดงว่าลักษณะของรูปก็จะต่างกันเป็นที่น่าพอใจ และไม่น่าพอใจ ซึ่งใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ด้วยเหตุนี้เมื่อกรรมให้ผลก็ให้ผลตามสมควร เพราะเหตุว่าเป็นกรรมที่กระทำในภูมิที่เป็นไปกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น ผลของกรรมก็ไม่ได้ไปอื่นเลยนอกจากเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส วนเวียนไปอย่างนี้ตามสิ่งที่ปรากฏในขณะนั้น แล้วแต่ว่าเป็นผลของกรรมใด ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม ก็มีการกระทบกันของอิฏฐารมณ์กับปสาทรูปที่ทำให้เมื่อจิตเกิดขึ้นทำกิจเห็นหรือได้ยินแล้ว ดับไปแล้ว สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะก็เป็นวิบาก คือ เป็นผลของกรรมเดียวกันดับไปแล้ว โวฏฐัพพนะเกิดต่อ ต่อจากนั้นจึงจะชอบ ไม่ชอบ เป็นกุศลหรืออกุศลตามการสะสม เพราะฉะนั้น ก็เปลี่ยนลักษณะของสภาพธรรมไม่ได้ สภาพธรรมเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 72


    หมายเลข 6990
    22 ม.ค. 2567