ทุกคนที่ไม่ใช่พระอรหันต์ยังมีปัจจัยที่จะให้เกิดตัณหาอยู่


    ธรรมเป็นเรื่องชีวิตจริงๆ ทุกๆวัน ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งถึงจุติ เพราะฉะนั้นก็ควรจะได้ทราบลักษณะสภาพของชีวิตของแต่ละท่าน หรือจิตใจของท่านแต่ละขณะว่า เป็นธรรมประเภทไหน

    ในคราวก่อนได้กล่าวถึงลักษณะของจิตซึ่งมีอรรถว่า

    ชื่อว่า “จิต”เพราะเป็นธรรมชาติอันกรรม กิเลสสั่งสมวิบากซึ่งก็แสดงถึงปฏิจจสมุปปาททั้ง ๓ คือ กิเลสวัฏฏ์ กัมมวัฏ และวิปากวัฏฏ์ นั่นเอง ซึ่งกิเลสวัฏฏ์ กัมมวัฏ วิปากวัฏฏ์ ก็ไม่ได้อยู่ในขณะอื่น นอกจากทุกๆขณะนี้เองว่า ในขณะนี้จิตที่เกิดเป็นกิเลสวัฏฏ์ หรือเป็นกัมมวัฏ หรือเป็นวิปากวัฏฏ์

    ซึ่งในคราวก่อนก็ได้กล่าวถึงตั้งแต่อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป นามรูปเป็นปัจจัยให้เกิดอายตนะ อายตนะเป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะเมื่อมีผัสสะแล้ว ผัสสะก็เป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา และเวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา โลภะ เป็นประจำ จริงไหมคะ

    นี่ชีวิตจริงๆ ที่จะต้องพิสูจน์พระธรรมว่าเป็นอย่างนี้หรือเปล่า

    เพราะฉะนั้นการศึกษาพระธรรมก็จะทำให้เห็นว่า ทุกคนไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือพ้นจากปัจจัยที่จะทำให้เกิดตัณหาเลย ผู้ที่จะพ้นจากตัณหาได้ มีบุคคลเดียว คือผู้ที่เป็นพระอรหันต์

    เพราะฉะนั้นเมื่อยังไม่ถึงความเป็นพระอรหันต์ ตัณหาก็ต้องมี เมื่อยังไม่ถึงความเป็นพระอนาคามีที่จะให้พ้นจากความติด ความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ และเมื่อยังไม่ถึงความเป็นสกทาคามี ก็ยังไม่บางเบา ยังเป็นผู้ที่ติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ และเมื่อยังไม่ใช่พระโสดาบัน ผู้ที่เป็นปุถุชน จะมีกิเลสหนาแน่นมากสักเพียงไหน หนีไม่พ้นความที่จะยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ตามความเป็นจริง แล้วแต่ว่าแต่ละบุคคลจะสะสมความพอใจในรูป หรือในเสียง หรือในกลิ่น หรือในรส หรือในโผฏฐัพพะ มากน้อยต่างๆกันไป แล้วจะทำอย่างไร นี่ตามความเป็นจริง

    นี่คือทุกชีวิตซึ่งเกิดมาแล้วมีปัจจัยที่จะให้เกิดตัณหา ตั้งแต่อย่างบาง ที่ไม่รู้สึกเลยว่า ขณะนี้เป็นความพอใจทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง จนกว่ากิเลสนั้นจะมีกำลังปรากฏเป็นปริยุฏฐานกิเลส ซึ่งเป็นกิเลสที่ทำให้ปรากฏว่า ขณะนั้นจิตใจเศร้าหมอง ไม่ผ่องใส เช่น นิวรณธรรม เป็นต้น ถึงจะรู้ว่า ตนเองกำลังมีกิเลส


    หมายเลข 6997
    24 ส.ค. 2558