กำลังแสวงหาวิบากหรือเปล่าหรือว่ารู้แล้วว่าแล้วแต่เหตุ


    เพราะฉะนั้นในขณะนี้ตามความเป็นจริง ท่านกำลังแสวงหาวิบากหรือเปล่า หรือว่ารู้แล้วว่า แล้วแต่เหตุ เพราะฉะนั้นจึงควรที่จะประกอบกรรมดียิ่งขึ้น ไม่ควรจะคิดว่าพอแล้ว เพราะเหตุว่าทานเป็นการกระทำโดยสละวัตถุปัจจัยเพื่อประโยชน์สุขของบุคคลอื่นเพียงเล็กน้อย ไม่มาก เพราะไม่มีใครสามารถที่จะสละได้หมด หรือว่าไม่มีใครสามารถที่จะสละได้มากอย่างที่หวัง ถึงแม้ว่าจะมีกถา หรือคำที่พรรณนาเรื่องของการให้ทาน และอานิสงส์ของทานสักเท่าไรก็ตาม ก็ไม่ใช่ว่าสามารถที่จะทำให้ทานเกิดได้ทันทีเสมอไป หรือว่ามากเท่าที่ควรจะเป็น แม้แต่เรื่องของทานยังเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นเรื่องของกุศลประการอื่น ๆ นี้ ก็ควรที่จะทราบว่า ควรที่จะอบรมเจริญโดยไม่ประมาทจริง ๆ แต่เมื่อเป็นผู้ที่ต้องการผลที่ดี คือ อิฏฐารมณ์ ไม่มีใครต้องการอนิฏฐารมณ์เลย สิ่งที่ไม่น่าพอใจทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ไม่มีใครปรารถนาแต่ทุกคนนี้ไม่รู้ว่าวันไหน อนิฏฐารมณ์จะเกิดขึ้นทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย จึงเป็นผู้ที่ไม่ควรประมาท

    เพราะฉะนั้นการเข้าใจเรื่องเหตุและผล เรื่องของกิเลส เรื่องของกรรม เรื่องของวิบาก ก็เป็นปัจจัยที่จะทำให้ได้รับทุกข์จากสังสารวัฏฏ์น้อยลง

    นอกจากนั้นถ้าเข้าใจวิถีจิตละเอียดว่า ในขณะที่เห็นครั้งหนึ่ง วิบากจิต เช่น จักขุวิญญาณที่กำลังเห็นก็ดี สัมปฏิจฉนะที่รับอารมณ์ต่อจากจักขุวิญญาณก็ดี สันตีรณะที่พิจารณาอารมณ์ต่อจากสัมปฏิจฉนะก็ดี วิบากจิตทั้งหมดไม่สามารถที่จะกระทำกรรมใด ๆ ได้เลย ทุกท่านที่จะทำกุศลกรรมประการหนึ่งประการใด ให้ทราบว่า ในขณะนั้นเป็นชวนวิถีจิต เป็นกุศลชวนวิถีจิต วิบากจิตที่เห็นนี้ทำอะไรไม่ได้

    เสียงที่ได้ยิน แม้ว่าจะได้ยินเสียงที่น่าพอใจสักเท่าไร วิบากจิตก็เพียงเกิดขึ้นได้ยิน รับเสียงนั้นต่อ แล้วก็พิจารณาเสียงนั้น แต่ทำอะไรไม่ได้เลย

    เวลาที่กลิ่นที่ดีปรากฏทางจมูก จิตที่เป็นวิบากจิตเกิดขึ้นรู้กลิ่นนั้น สัมปฏิจฉันนะรับกลิ่นนั้น สันตีรณะพิจารณากลิ่นนั้น แต่ทำกุศลใด ๆ ไม่ได้ ทำกรรมใด ๆ ไม่ได้ เคลื่อนไหวใด ๆ ไม่ได้

    เพราะฉะนั้นในขณะที่กำลังเห็น อาจจะมีบางท่านที่กำลังยกมือ กำลังเขียน กำลังจด แต่ให้ทราบว่า ในขณะที่เขียน ในขณะที่จด ไม่ใช่วิบากจิตที่เห็น ไม่ใช่วิบากจิตที่ได้ยิน ไม่ใช่วิบากจิตที่ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แต่เป็นชวนวิถีจิต ซึ่งแล้วแต่ว่า การเคลื่อนไหวนั้นเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต แต่การเคลื่อนไหวทั้งหมด การพูด การเดิน การประกอบกิจการงาน การกระทำทางกาย วาจาใด ๆ ก็ตาม ทั้งหมดไม่ใช่วิบากจิต

    เพราะฉะนั้นการที่รู้อย่างนี้จะเกื้อกูลให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า แม้ในขณะที่เห็นก็เป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่ในขณะที่รู้สึกยินดีพอใจในสิ่งที่เห็น หรือว่าในขณะที่รู้สึกไม่ยินดี ไม่พอใจในสิ่งที่เห็น หรือไม่ใช่ในขณะที่มีความคิดเรื่องสิ่งที่เห็น

    เพราะฉะนั้นก็จะเห็นว่า เป็นจิตต่างประเภทกัน ถ้าไม่รู้อย่างนี้ ก็จะไม่เป็นปัจจัยให้สติปัฏฐานระลึกได้ในขณะที่มีการกระทำด้วยกาย ด้วยวาจา เช่น ในขณะที่กระทำการเคลื่อนไหวทางกาย อย่างท่านที่คิดจะอ่านพระไตรปิฎก ก็เดินไปหยิบพระไตรปิฎกที่จะอ่าน ในระหว่างที่เดินไปนั้น เห็นเป็นวิบากจิต แต่ไม่ใช่ในขณะที่เดิน ไม่ใช่ขณะที่หยิบ เพราะฉะนั้นเวลาที่สติเกิดระลึกได้ ในขณะนั้นจะรู้ลักษณะของจิตที่เป็นกุศล ที่มีความต้องการในการที่จะเดินไป เพื่อที่จะแสวงหาความรู้ เพื่อที่จะเข้าใจธรรมด้วยการอ่านพระไตรปิฎก แต่ถ้าไม่รู้อย่างนี้ สติไม่เกิด หลงลืมสติ ในขณะที่กำลังเดิน เห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เกิดพอใจแล้วในสิ่งที่เห็น ระหว่างที่ยังไม่ถึงหนังสือพระไตรปิฎก ใช่ไหมคะ หรือว่าเสียงหนึ่งเสียงใดเกิดขึ้น ก็เกิดความยินดีบ้าง ยินร้ายบ้างในเสียงที่ปรากฏ แต่ถ้ารู้จริง ๆ ว่า ในขณะที่กำลังเดิน ไม่ใช่วิบากจิต จิตที่เห็นเดินไม่ได้ เคลื่อนไหวไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้ จิตที่ได้ยินก็เพียงแต่ได้ยินเท่านั้น เพราะฉะนั้นในขณะที่คิดนึก ในขณะที่กระทำกิจใด ๆ ก็ตาม ในขณะนั้นเป็นชวนวิถีจิต เป็นกุศลจิต หรืออกุศลจิต การรู้อย่างนี้ ย่อมเป็นปัจจัยให้สติเกิดขึ้นพร้อมทั้งกุศลจิตเกิดด้วยก่อนที่จะถึงพระไตรปิฎก แล้วก็หยิบขึ้นอ่าน ก็ยังเป็นปัจจัยให้กุศลจิตเกิดได้ แต่ถ้าไม่รู้ เห็นอะไรในระหว่างทาง ได้ยินเสียงอะไรในระหว่างนั้น อกุศลจิตก็ไหลไปแล้ว เพราะเหตุว่าเป็นอาสวะ ที่สะสมหมักดองมา พร้อมที่จะไหลไป เป็นโลภะ หรือโทสะ หรือโมหะ ในอารมณ์ที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้นเวลาที่รู้อย่างนี้ ต่อไปนี้เวลาที่มีการกระทำทางกาย หรือว่าการเดิน การพูด การนั่ง การคู้ การลิ้ม การเหยียด แม้ในขณะที่รับประทานอาหาร พอเอื้อมมือไหวไป ก็ยังรู้แล้วว่า นี่เป็นจิตที่ไม่ใช่จิตเห็น ถ้าจะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมในขณะนั้น แล้วก็ตามความเป็นจริงว่า ในขณะนั้นมีความต้องการที่เป็นอกุศล หรือว่าเป็นกุศลในขณะนั้น ซึ่งเวลาที่รับประทานอาหาร จิตย่อมเป็นอะไรคะ ที่เอื้อมมือไปตัก แล้วก็เคี้ยว จักขุวิญญาณ เห็น ทำอะไรไม่ได้ โสตวิญญาณก็ได้ยิน ถ้ามีเสียงเพลง เสียงอะไรในขณะนั้น แต่โสตวิญญาณและวิบากจิตทำอะไรไม่ได้ เพราะฉะนั้นในขณะที่กำลังรับประทานอาหาร ซึ่งต้องมีการกระทำทางกาย การเคลื่อนไหวมือ ระลึกรู้ไหมคะว่า เป็นจิตอะไร ตามความเป็นจริง ตามปกติ จิตอะไรคะ โลภมูลจิต

    เพราะฉะนั้นไม่ใช่หนีโลภะ แต่ต้องรู้โลภะตามความเป็นจริง จึงจะละได้


    หมายเลข 7006
    24 ส.ค. 2558