โลภะมีอยู่ประจำ แต่กุศลจิตก็มีโอกาสที่จะเกิดได้
โลภะมีอยู่ประจำ ตั้งแต่เล็ก ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งโต แต่ว่ากุศลจิตก็ยังมีโอกาสที่จะเกิดด้วย อย่าคิดว่าจะต้องเป็นโลภะไปเรื่อย ๆ แม้แต่การประกอบการงานอาชีพ ส่วนใหญ่ก็เป็นโลภะ ซึ่งในวันหนึ่ง ๆ โลภะมากทีเดียวแต่ว่าอย่าลืมว่า กุศลจิตก็มีโอกาสที่จะเกิดได้ เมื่อเห็นประโยชน์ของกุศลจิต ในขณะที่รับประทานอาหาร โลภะเกิดขึ้นชวนวิถีหนึ่ง แล้วชวนวิถีต่อไป สติระลึกรู้ลักษณะของจิตที่ยินดีพอใจในขณะนั้น หรือระลึกรู้ลักษณะของรูปธรรม แล้วแต่ว่าจะเป็นอาการของสิ่งที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว หรือแม้แต่รสที่ปรากฏเวลากระทบลิ้น รู้ได้ทันทีในขณะที่ลิ้มรส ไม่ใช่ขณะที่ทำอาการเคี้ยว หรืออย่างหนึ่งอย่างใด สภาพที่ลิ้มรสเป็นลักษณะของวิบากจิต ซึ่งทำอะไรไม่ได้เลย
เพราะฉะนั้นจิตที่เป็นวิบากทั้งหมด ขณะที่เป็นภวังคจิตเป็นวิบากจิต นอนหลับสนิท ไม่มีการเคลื่อนไหวกระทำกิจใด ๆ ทั้งสิ้น และการอบรมเจริญสติปัฏฐาน เพราะว่ารู้ลักษณะของวิถีจิตอย่างละเอียด ก็จะทำให้รู้ว่า แม้ในขณะที่ยังไม่มีการกระทำใด ๆ ทางกาย ทางวาจา เพียงเห็น สติก็ยังสามารถที่จะรู้ขณะที่ต่างกันว่า สภาพที่รู้สิ่งที่ปรากฏ ไม่ใช่สภาพที่ยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏ แม้ว่าจะยังไม่มีการกระทำทางกาย ทางวาจา เพราะเหตุว่าโลภชวนวิถีก็เกิดต่อจากจักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ หรือว่าในขณะที่ได้ยินเสียง ชวนวิถีซึ่งเป็นโลภะก็สามารถที่จะเกิดได้ต่อจากโสตวิญญาณ สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต โวฏฐัพพนจิต
เพราะฉะนั้นย่อมเห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง ถูกต้อง แล้วก็ไม่หลอกตัวเอง การอบรมเจริญปัญญา เพื่อรู้สภาพธรรมตามปกติ ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นผู้ที่มีปัจจัยที่โลภะจะเกิดเป็นประจำ เป็นปกติ เวลาที่สติปัฏฐานเกิดขึ้น ก็ย่อมระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงไม่ใช่ว่าผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานนี้หมดโลภะ ไม่เห็นโลภะเลย มีแต่กุศลทั้งนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปได้อย่างไร เพราะว่าการอบรมเจริญปัญญา ต้องเริ่มระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง ไม่ใช่เปลี่ยนหน้ามือเป็นหลังมือว่า เวลาปกติอย่างนี้อย่างหนึ่ง แล้วก็ไปทำวิปัสสนา จากหน้ามือเป็นหลังมือ อีกอย่างหนึ่ง ไม่มีโลภะเกิดขึ้นเลย ไม่ใช่อย่างนั้น นั่นไม่ใช่การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้นย่อมไม่เห็นว่า ตามปกติโลภะย่อมเกิด เพราะฉะนั้นการที่จะละโลภะ ไม่ใช่ละโลภะในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ บรรลุความเป็นพระอนาคามีทันที แต่ว่าละโลภะที่เกิดพร้อมสักกายทิฏฐิ ที่ยึดถือการเห็นว่าเป็นเราเห็น เวลาที่ได้ยินเกิดขึ้นก็ละการเห็นผิดที่ยึดถือสภาพที่ได้ยินว่า เราได้ยิน
เพราะฉะนั้นการอบรมเจริญปัญญาจะเห็นได้ว่า ต้องละกิเลสตามลำดับขั้น สำหรับผู้ที่เป็นพระโสดาบันบุคคล โสตาปัตติมรรคจิตเกิดขึ้นดับสักกายทิฏฐิเป็นสมุจเฉท ไม่มีการเห็นผิด ที่จะยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล แต่ว่ายังมีความยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะยังมีโลภมูลจิตที่เป็นทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ไม่เกิดกับมิจฉาทิฏฐิใด ๆ เลย แต่ว่ายังเป็นโลภมูลจิต จนกว่าจะถึงความเป็นพระอนาคามี จึงจะดับความยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะได้
เป็นเรื่องจริงนะคะ